โลหิต หรือ เลือด มีความสำคัญในการรักษาผู้ป่วย เพราะในปัจจุบันยังไม่มีใครที่คิดค้นสิ่งที่สามารถใช้แทนโลหิตได้ จึงยังต้องมีการรับบริจาคโลหิต เพื่อนำมาใช้รักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยอยู่ โดยการบริจาคโลหิต คือการสละโลหิตส่วนเกินของร่างกาย ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ให้กับผู้ป่วย เมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุ โดยการบริจาคโลหิต 1 ถุง สามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากถึง 3 ชีวิตเลยทีเดียว
วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) ตรงกับวันที่ 14 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) แพทย์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1868-1943 ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีดร.คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการจำแนกหมู่โลหิต A, B และ O ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก จนได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา หรือแพทยศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1930 อีกทั้งยังพบว่าการถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกันไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย การค้นพบเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการต่อยอดในวงการแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้อีกเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นเพื่อให้ชาวโลกตระหนักและเห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต พร้อมกับเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้บริจาคโลหิต องค์การอนามัยโลก (WHO), สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ(IFRC), สหพันธ์ผู้บริจาคโลหิตระหว่างประเทศ (FIODS) และสมาคมบริการโลหิตระหว่างประเทศ (ISBT) จึงได้ขอความร่วมมือให้สภากาชาดทั่วโลก จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการขอบคุณผู้บริจาคโลหิตทั่วโลก และส่งเสริมงานบริการโลหิตให้เป็นที่แพร่หลายในวันผู้บริจาคโลหิตโลก 14 มิถุนายนของทุกปี โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2547 (ค.ศ. 2004) และจัดกิจกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 20 แล้ว
โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ หรือโทร.1719
ที่มาข้อมูล : thaihealth, bangkokpattayahospital