๔ ทหารเสือ ขุนพลแก้วคู่พระทัย พระเจ้าตากสินมหาราช

178
views

วีรบุรุษผู้สละเลือด!! เปิด “๔ ทหารเสือ” ขุนพลแก้วคู่พระทัย สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ สู่ “วันชนะศึก” ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา กลับคืนสู่แผ่นดินไทย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์มีความสำคัญที่ชาวไทยไม่มีวันลืมในพระคุณงามความดีที่ทรงกอบกู้เอกราช เริ่มแต่ในวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๓๐๙ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช ๑๑๒๘ ปีจอ อัฐศก พระยาวชิรปราการ (ยศในขณะนั้น) เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจรวบรวมทหารกล้าราว ๕๐๐ คน ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า โดยตั้งใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้ได้โดยเร็ว ทรงเข้ายึดเมืองจันทบุรี เริ่มสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ กำลังทหาร เพื่อเข้าทำการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีกุน นพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๑๐ และสมเด็จพระเจ้าตากสิน สามารถกู้กลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก ซึ่งตรงกับวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๐ รวมใช้เวลารวบรวมผู้คนจนเป็นทัพใหญ่กลับมากู้ชาติด้วยระยะเวลาเพียง ๗ เดือนเท่านั้น

ในการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงมีทหารเอกคู่พระทัย อยู่ ๔ ท่าน ที่ปรากฏร่วมกับพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย จ.จันทบุรี นั่นก็คือ หลวงราชเสน่หา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) , หลวงพิชัยอาสา (พระยาพิชัยดาบหัก) , พระยาเชียงเงิน , หลวงพรหมเสนา (เจ้าพระยานครสวรรค์)

๑.หลวงราชเสน่หา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา เป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มีพระนามเดิมว่า “บุญมา” ต่อมาได้ทรงรับราชการในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ตำแหน่ง นายสุจินดาหุ้มแพร (ได้รู้จักกับพระยาตากมาก่อน เมื่อครั้นรับราชการอยู่นั้น) เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียกรุงแก่พม่า นายสุจินดากับเพื่อน ๆ ได้ลอบหนีออกจากเมือง ได้มาอาศัยอยู่กับพี่สาวที่บางกอก (คงจะเมื่อกรุงแตกแล้วหรือใกล้จะแตกแล้ว) และได้ข่าวเกี่ยวกับพระยาตากไปตั้งตัวที่จันทบูร มีกำลังมากจะยกทัพมาตีอยุธยาคืน นายสุดจินดาหุ้มแพรได้ฝากภรรยาและทรัพย์สมบัติไว้กับพี่สาว แล้วพาพรรคพวกบางคนเดินทางไปจันทบูรทางบกโดยผ่านบางปลาสร้อย พระเจ้าตากได้รับนายบุญมาเข้าไว้เป็นพรรคพวก

ด้วยความสามารถส่วนตัวของนายบุญมาเด่นมาก จนทำให้ได้รับความไว้วางพระทัยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และไปสมัครรับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจในขวา พระเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้นนับว่าเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งสิบทิศ พระองค์ได้ทรงร่วมศึกสงครามขับไล่อริราชศัตรูปกป้องพระราชอาณาจักรตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ได้เสด็จไปในการพระราชสงครามทั้งทางบก และทางเรือ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถึง ๑๖ ครั้ง และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาอีกหลายครั้ง

๒.หลวงพิชัยอาสา (พระยาพิชัยดาบหัก)

พระยาพิชัยดาบหัก ขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในชั้นเชิงการต่อสู้ ทั้งมือเปล่าแบบมวยไทย และอาวุธแบบกระบี่ กระบอง เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๔ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ

จากนั้นได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิชัยอาสา” เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ ภายหลังข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย ๒ ครั้ง ในการรบครั้งที่ ๒ พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก”

พระยาพิชัยดาบหัก ได้สร้างวีรกรรมอันควรเป็นเยี่ยงอย่าง อันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญ รวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป

๓.พระยาเชียงเงิน

พระยาเชียงเงิน หรือพระยาท้ายน้ำ เดิมเป็นเจ้าเมืองเชียงเงิน หัวเมืองชั้นจัตวาขึ้นกับเมืองระแหง (ในพระราชพงศาวดารกล่าวชัดเจนซึ่งแย้งกับบางแหล่งข้อมูลว่า หลวงพรหมเสนามีเชื้อสายจีน) เข้ามาสวามิภักดิ์กับพระยาตาก และร่วมรบตั้งแต่ครั้งตีฝ่าทัพพม่าออกมาจนถึงจันทบุรี พระเชียงเงินไม่มีชื่อเสียงในด้านการทัพเป็นพิเศษ และออกจะอ่อนแอในบางครั้งด้วยซ้ำ จนเกือบจะถูกประหารชีวิตไปแล้ว แต่ก็เป็นข้าราชบริพารที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระเมตตาเป็นพิเศษ และเป็นเจ้าเมืองคนหนึ่งที่โปรดปรานให้มาเฝ้าเพื่อทรงสั่งสอน “วิธีการ” ต่อสู้กับข้าศึก

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ในคราวที่ทรงต่อสู้กับอริราชศัตรูที่เมืองระยองนั้น ได้มีบันทึกว่า “พระยาเชียงเงิน” เป็น “พระยาท้ายน้ำ” ครั้นเมื่อปราบปรามก๊กต่างๆ ทางเมืองเหนือได้ราบคาบแล้ว ทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้พระยาท้ายน้ำรั้งเมืองสุโขทัย ท่านเป็นทหารหาญคนสนิทที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยยิ่ง

๔.หลวงพรหมเสนา (เจ้าพระยานครสวรรค์)

หลวงพรหมเสนา เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๒๗๙ ณ บ้านเชียงของ (ปัจจุบันคือบ้านเชียงทอง) จ.ตาก บิดาท่านสืบเชื้อสายมาจากเมืองเชียงของ หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มารดาท่านเป็นญาติใกล้ชิดกับพระเชียงเงิน (ธงชัย) ท่านได้ไปเติบโตที่ฝั่งลาว และได้กลับมาเป็นเจ้าคุ้มเชียงทอง ท่านจึงมีอีกนามหนึ่งว่า “เจ้าฟ้าเชียงทอง” และคุ้มของท่านอยู่บานเนินเขาเตี้ยๆ ริมฝั่งแม่น้ำปิง (ปัจจุบันคือวัดเชียงทอง จ.ตาก) จากนั้นท่านได้ติดตามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาเป็นทหารเอกคู่พระทัย อาทิ พระเชียงเงิน (ธงชัย) หลวงพิชัยอาสา (จ้อย) หลวงราชเสน่หา

ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระพรมเสนา,พระยาอนุรักษ์ภูธร และพระยานครสวรรค์ ตามลำดับ ท่านได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคนหนึ่ง จนได้รับพระราชอาญาสิทธิ์ให้ลงโทษผู้ย่อหย่อน ในการศึกได้ถึงตัดศีรษะ ในคราวศึกบางแก้ว ก่อนที่พระยานครสวรรค์จะไปช่วยหนุนพระยาธิเบศบดีนั้นได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระ เจ้ากรุงธนบุรีพระองค์ได้ทรงมอบดาบอาญาสิทธิ์ให้ลงโทษตัดศรีษะทหารผู่ย่อหย่อนในการศึกได้และให้พรแก่พระยานครสวรรค์และทหาร ว่า “ชะยะตุภวัง สัพพะศัตรูวินาสสันติ” อันเป็นที่มาของคาถาบูชาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในปัจจุบันคือ “ชะยะตุภะวัง สัพพะศัตรูวินาสสันติ”

ขอสดุดีวีรกรรมของวีรบุรุษ ที่ท่านเป็นบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยในการปกปักษ์รักษาสยามประเทศไว้ ณ ที่นี้

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.springnews.co.th/news/135046

ขอบคุณภาพจาก : mpics.mgronline.com/pics/Images/563000013654001.JPEG
www.blockdit.com/posts/5c9fefd46d77e2148c9448c6

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร