7 มิถุนายน “วันโดนัทโลก” หรือ National Doughnut Day เริ่มต้นขึ้นในปี 1938 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เหล่าสตรี ในฝรั่งเศส แจกจ่ายโดนัทให้กับเหล่าทหารหาญชาวอเมริกัน ทำให้ขนมหวานชนิดนี้แพร่หลายในสหรัฐอเมริกา หลังสงครามจบสิ้นลง ไม่นาน ผู้หญิงที่ทํางานนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักของทหารในชื่อ “Doughnut Girls”
ชื่อของขนม “โดนัท” นั้นเป็นขนมพื้นเมืองของเนเธอแลนด์ เดิมทีมันไม่มีรูอยู่ตรงกลาง แต่เป็นแป้งทอดมีรสหวาน บางครั้งก็โรยน้ำตาล มีชื่อภาษาดัตช์ที่แปลเป็นไทย ว่า ขนมน้ำมัน (oil cake) ชาวยุโรปที่อพยพไปสหรัฐฯ ต้นศตวรรษที่ 17 นำขนมนี้ไปด้วย เพราะมันมีรูปร่างกลมเล็กเท่าลูกวอลนัท ชาวนิวอิงแลนด์ จึงเรียกขนมนี้ใหม่ว่า โด แปลว่า ก้อนแป้งบวกนัท ที่แปลว่า ถั่ว ตอนนั้นมันยังไม่มีถั่วผสมเลย แต่ยุคนี้โดนัท โรยถั่วขนิดต่าง ๆ มีให้เลือกเยอะแยะ
ทำไมโดนัทถึงต้องมีรู? คำถามที่คุ้นหูกันมานาน รูตรงกลางของโดนัท ถือกำเนิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อนาย แฮนสัน เกรกอรี กัปตันเรือชาวเมืองรอคพอท รัฐเมน สหรัฐอเมริกา เจาะรูแป้งโดนัท ที่แม่ของเขากำลังจะทอด เพราะคิดว่าการขยายพื้นผิวหน้าของขนม จะทำให้ทอดได้ง่ายขึ้น เพราะแต่เดิมนั้น ตรงกลางของโดนัทที่ไม่มีรู มักจะแฉะ และสุกไม่ทั่ว ชาวเมืองรอคพอท ภาคภูมิใจกับรูตรงกลางของโดนัทมาก เพราะเกิดขึ้นจากเมืองของพวกเขา ถึงขนาดสร้างป้ายทองแดงจารึกเหตุการณ์นี้ไว้เป็นประวัติศาสตร์ กันเลยทีเดียว ประวัติศาสตร์ของโดนัท สะท้อนให้เราเห็นว่า แม้แต่ความเรียบง่าย อย่างรูตรงกลางของขนมชนิดหนึ่ง ก็กลายมาเป็นประวัติศาสตร์ไว้เล่าขานกันสืบมาได้