มะม่วงเบา หรือที่คนใต้เรียกว่า ‘ลูกม่วงเบา’ มีลักษณะประจำพันธุ์คือ กลิ่นหอมและรสที่เป็นเอกลักษณ์ ที่สัมผัสความเปรี้ยวได้ตั้งแต่ดมกลิ่น เนื้อผลดิบไม่ถึงสุกจะฉ่ำน้ำ ให้น้ำเยอะ รสเปรี้ยวจัด ปอกเปลือกสับและหั่นเป็นฝอยใส่พล่าเนื้อ หรือปรุงกับข้าวยำปักษ์ใต้
ต้นกำเนิดของมะม่วงพันธุ์นี้มาจากมาเลเซียและภาคใต้ของไทย ปลูกและกินกันมากในเกือบทุกจังหวัดตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงมา ราว 20 ปีก่อน แทบทุกบ้านจะต้องปลูกมะม่วงเบา ช่วงฤดูร้อนก็จะออกผลเยอะให้มีขายกันเป็นปี๊บ ส่วนชื่อพันธุ์ที่เรียกว่า ‘เบา’ นั้น หมายถึงผลิตผลทางการเกษตรที่ให้ผลเร็วนั่นเอง
นอกจากรูปร่างแล้ว สิ่งที่ทำให้มะม่วงเบาโดดเด่นเห็นจะเป็นรสชาติเปรี้ยวจี๊ด เจือกลิ่นหอมบางๆ ใสๆ ฉ่ำน้ำ ยามที่เป็นผลดิบอยู่ หากสุกแล้วก็จะมีรสเปรี้ยวอมหวานนิดๆ แต่คนนิยมกินดิบ หรือกินแบบสดๆมากกว่า
จะกินแบบสดๆ ก็ง่ายมาก ล้างมะม่วงเบาดิบให้สะอาด หั่นตามใจชอบ ไม่ต้องปอกเปลือก จิ้มกินกับน้ำตาลปี๊บ พริกป่น คลุกกะปิซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นของติดบ้านอยู่แล้ว หรือให้ง่ายกว่านั้น จิ้มมันกุ้งแบบคนใต้ เพียงแค่นี้ก็ได้สัมผัสรสเปรี้ยวจี๊ด กรุบกรอบ อร่อยเข็ดฟัน ได้กลิ่นหอมบางๆ จากเปลือกที่ติดอยู่ด้วย
รสเปรี้ยวจี๊ดของมะม่วงเบาสามารถนำไปใช้แทนน้ำมะนาวหรือน้ำส้มมะขามในอาหารหลายจาน ที่คุ้นกันดีก็เช่น มะม่วงดิบในน้ำพริก หรือข้าวคลุกกะปิในฤดูร้อนที่มะนาวออกน้อย แต่เป็นช่วงที่มะม่วงเบาออกเยอะพอดี ก็เอามาแทนกันได้ สำหรับคนใต้ ใส่มะม่วงเบาลงในอาหารคาวหลายอย่าง เช่น อาหารพวกยำ เช่น ข้าวยำ ขนมจีนน้ำยา ข้าวราดแกงไตปลา
มะม่วงเบาถือว่าออกดอกมาก ติดผลมาก ออกตลอดปี หากอายุถึง 10 ปีแล้ว ต้นหนึ่งจะให้ผลประมาณ 500 ลูก สามารถออกผลได้ตลอดทั้งปี
ประโยชน์ของมะม่วงเบาก็มีเยอะไม่แพ้ผลไม้ชนิดอื่น ด้วยรสชาติเปรี้ยวของมะม่วง เมื่อรับประทานจะทำให้รู้สึกสดชื่น และกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น โดยมะม่วงจะช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ และช่วยแก้อาการร้อนใน เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินซี ช่วยบำรุงผิวให้ขาวกระจ่างใส และดูเปล่งปลั่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ช่วยบำรุงสายตา แต่อุดมไปด้วยวิตามินซีที่ส่วนช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรงขึ้น ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้อีกด้วย
คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะมีอาการแพ้ท้อง ซึ่งบรรเทาได้โดยการรับประทานมะม่วงเปรี้ยว นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็กซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญต่อคนท้อง จึงสามารถแก้ภาวะโลหิตจางในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้