อโศกมหาราชผู้ทรงธรรม พุทธศาสนูปถัมภกผู้ยิ่งใหญ่

393
views
อโศก ผู้ทรงธรรม

ส.สีมา เขียนถึง “อโศกมหาราช” ผู้มีพระชนมชีพในห้วง พ.ศ. 218-260 ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า… เรารู้จักอโศกมหาราชในอีกพระนามหนึ่งว่า ธรรมาโศก (อโศก ผู้ทรงธรรม) หรือศรีธรรมาโศกราช

พระองค์เป็นพระราชาองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์โมริยะ (Maurya) ครองราชสมบัติ ณ นครปาฏลีบุตร ในห้วงปี พ.ศ. 218-260 ทรงเป็นพระราชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชมพูทวีป และทรงเป็นองค์เอก อัครศาสนูปถัมภกที่สําคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา

อโศกมหาราช

พระประวัติของอโศกมหาราชโดยพิสดารนั้นชวนให้เข้าใจว่าทรงมีเชื้อสายสืบต่อมาจากศากยวงศ์ คือ วงศ์ของพระพุทธเจ้าที่ถูกทําลายด้วยความแค้นของพระราชาวิฑูฑะภะแห่งแคว้นโกศล ทําให้พระญาติที่หลุดรอดจากการทําลายแตกหนีไปจํานวนมากนั้น มีชายหนุ่มผู้หนึ่งที่เฉลียวฉลาดนามว่าจันทรคุปต์ ได้รวบรวมผู้คนเข้าด้วยกับกองทัพอเล็กซานเดอร์มหาราช แต่ต่อมาเกิดผิดใจกันและจันทรคุปต์ถูกจับ แต่ก็หนีมาตั้งกองทัพใหม่เป็นอิสระได้ ให้พอดีอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพกลับกรีก แต่ไม่ถึงกรีกด้วยสวรรคตเสียก่อนที่เมืองบาบิโลน จึงเป็นโอกาสดีของจันทรคุปต์ ได้รวบรวมผู้คนมากพอและสถาปนาราชวงศ์โมริยะขึ้น และจัดทัพเข้ายึดนครราชคฤห์แห่งแคว้นมคธได้ แต่ได้ย้ายราชธานีใหม่ไปอยู่เมืองปาฏลีบุตร

กว่าจะยึดราชคฤห์ได้และสถาปนาปาฏลีบุตรเป็นราชธานีนั้น มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ เชิงยุทธศาสตร์ที่แยบยลอย่างหนึ่งในการขยายอาณาจักรของราชวงศ์โมริยะให้กว้างขวางขึ้นอย่างชาญฉลาด เรื่องมีอยู่ว่าขณะที่พระราชาจันทรคุปต์ยังมีกองทัพไม่เข้มแข็งมากนัก และซ่องสุมผู้คนหลบซ่อนกองทัพใหญ่ของข้าศึกที่แข็งแรงกว่านั้น วันหนึ่งทรงได้ยินแม่ผู้หนึ่งสอนลูกกินขนมเบื้องว่าให้กัดกินจากริมไปทีละเล็กละน้อยก่อนจะเข้าไปกินตรงกลาง เพราะถ้ากัดตรงกลางทันทีก็ย่อมจะร้อนต้องคายทิ้ง

“มึงมันลูกโจร จันทรคุปต์ ยังมีกองกําลังไม่แก่กล้าก็โหมเข้าตีเมืองใหญ่ ย่อมต้องพ่ายแพ้แน่นอน ก็เหมือนถึงโลกกล้ากัดขนมเบื้องตรงกลางที่กําลังร้อน แทนที่จะค่อยๆ เต็มตีเมืองเล็กไปก่อน”

จันทรคุปต์ได้ยินแม่ผู้นั้นด่าลูกและพาดพิงถึงตนก็ได้คิด แต่ไม่ได้โกรธเคืองอะไร โดยปรับปรุงการรบเสียใหม่ จนชนะคู่ต่อสู้และยึดราชคฤห์ได้ และคู่ศึกต่อมาก็คือพระราชาเซลอยโกส ขุนพลดั้งเดิมของอเล็กซานเดอร์มหาราช เชื้อสายกรีกผู้ครองแคว้นคันธารราฐ ที่ยอมหย่าทัพและยอมยกราชธิดาให้พระราชาจันทรคุปต์ด้วย

พระราชาจันทรคุปต์องค์นี้ คือต้นราชวงศ์โมริยะ และเป็นสมเด็จปู่ของอโศกมหาราช เมื่อพระราชาจันทรคุปต์สวรรคต พระราชาพินทุสาร พระโอรสได้ครองราชย์ต่อมา ทรงขยายราชอาณาจักรกว้างขวางมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

อโศกมหาราชเป็นโอรสที่พระบิดาโปรดปราน ได้เป็นอุปราชและได้ครองเมืองอุชเชนี แห่งแคว้นอวันตี (อุชเชนีอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นเมืองที่คาร์ล เจลเลอรุพ สมมุติให้เป็นเมืองของกามนิตในวรรณกรรมเรื่องวาสิฏฐี)

เมื่อพระบิดาคือพระราชาพินทุสารสวรรคต อโศกมหาราชทรงได้ราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ. 270 ทรงพระนามว่า พระราชาอโศกปิยทัสสี (ครองราชสมบัติ 41 ปี สวรรคตเมื่อ ปี พ.ศ. 311)

เมื่อครองราชสมบัติก็ทรงเจริญรอยตามพระบิดาคือขยายพระราชอาณาจักร โจมตีแคว้นต่างๆ ให้มายอมอยู่ในพระอํานาจ แคว้นสําคัญคือกะลิงคะซึ่งอยู่ตอนใต้แคว้นมคธ สงครามที่นี่สู้รบกันดุเดือดที่สุดและโหดร้ายที่สุด แม้อโศกมหาราชจะเป็นผู้ชนะ แต่ก็สูญเสียไพร่พลมหาศาล สําหรับกะลิงคะแล้วไม่ต้องพูดถึง ไพร่พลล้มตาย สูญหายและถูกจับเป็นเชลยมากกว่ามาก

วิบัติแห่งสงครามครั้งนี้ ทําให้อโศกมหาราชทรงเศร้าพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และหันมานับถือพระพุทธศาสนาโดยทันที ทรงเจริญศีล ละเว้นปาณาติบาตอย่างเคร่งครัด กับอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง โดยจัดสร้างวัดหรือวิหารถึง 84,000 แห่ง ซึ่งปรากฏอยู่ทุกแคว้นทุกเมืองในชมพูทวีป ประหนึ่งว่าจะลบพระนามอโศกผู้โหดเหี้ยม (จัณฑาโศก) ให้เลือนหายไปด้วย เคยกระทําการฆ่าพี่น้องไม่น้อยกว่าร้อยองค์เพื่อขึ้นครองราชสมบัติแต่ผู้เดียว

อโศกมหาราช

ต่อเมื่อพลิกกลับพระทัยมานับถือพุทธศาสนา จึงได้พระนามใหม่ว่า ธรรมาโศกหรืออโศกผู้ทรงธรรม และรู้จักกันทั่วไปอีกพระนามหนึ่งว่า “ศรีธรรมาโศกราช” ทรงเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริงด้วยธรรมพิชัย (ชัยชนะโดยธรรม) ทรงประกาศพุทธศาสนาขึ้นเป็นประธานสําหรับประเทศ ยอมอุทิศพระองค์เป็นอุบาสกและทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ครั้งหนึ่งและเคยเสด็จไปนมัสการถึงสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งด้วย

อนึ่ง มีเรื่องเล่าว่าทรงได้พระสติเกิดแรงจูงใจจากการได้สนทนากับสามเณรน้อยองค์หนึ่งนามว่านิโครธะ ผู้มีท่าที่อันสงบ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถสมณสารูป สามเณรน้อยองค์นี้แท้จริงเป็นพระญาติสนิทที่รอดพ้นจากการถูกเข่นฆ่าครั้งเมื่อแย่งชิงราชสมบัติ

ภารกิจหลักที่ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนา มี 3 อย่าง คือ การสร้างพุทธเจดียสถาน การสังคายนาพระธรรมวินัยและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ

อย่างแรกคือให้สร้างสถูปบรรจุพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในที่ต่างๆ ทั้งในอินเดียและลังกาทวีป อย่างที่ 2 ทรงให้ทําตติสังคายนาที่นครปาฏลีบุตรอีกครั้งหนึ่งเพื่อกลั่นกรองพระธรรมวินัยให้ตรงตามวาทะของพระอริยสาวก ครั้งเมื่อทําปฐมสังคายนา ส่วนประการสุดท้ายคือการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ เช่น คันธาระประเทศ (อัฟกานิสถาน) เปอร์เซีย ลังกาทวีป (ศรีลังกา) สุวรรณภูมิประเทศ เป็นต้น

กล่าวสําหรับหลักศิลาเสาอโศก (จารึกธรรมโองการ) อันเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเสาหินสูง ประดับยอดเสาด้วยรูปสิงห์ 4 ตัวทูนธรรมจักรปรากฏทั่วราชอาณาจักรที่ขุดค้นได้มี 12 แห่ง โดยเฉพาะที่สารนาถปฐมเทศนา เป็นเสาศิลาที่สง่างาม สําคัญและรู้จักกันมากที่สุด

สิงห์ทั้งสี่ดังกล่าว ท่านอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) อธิบายว่าหมายถึงพระราชอํานาจของอโศกมหาราชที่แผ่ไปทั่ว ทั้ง 4 ทิศ

สิงห์ทูนธรรมจักรนั้น มีความ หมายว่าอํานาจรัฐถือเป็นธรรมใหญ่ เชิดชูบูชาธรรมและหนุนการแผ่ขยายธรรมไปทั่วทิศทั้งสี่

สิงห์ทูนธรรมจักรยอดเสาศิลานี้ รัฐบาลอินเดียครั้งได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2490 ได้ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ตรงกลางผืนธงชาติเป็นตราแผ่นดินตราบจนปัจจุบันนี้

ที่มาข้อมูล – ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2555

เรื่องราวของ “พระเจ้าอโศกมหาราช” จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเมารยะ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร