…เรื่องราวการเดินทางชีวิตของ “อโศก” เด็กหนุ่มผู้ไม่รู้ถึงชาติกำเนิดและสายเลือดขัตติยาที่ตัวเองมี สู่เส้นทางของมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในชมพูทวีป เส้นทางที่ต้องก้าวข้ามอุปสรรค ขวากหนาม แม้จะต้องแลกด้วยการทำลายล้างชีวิตเรือนแสนเพื่อความยิ่งใหญ่บนบัลลังก์ราชา
“อโศกมหาราช” บุคคลผู้เป็นตำนานกว่า 2,000 ปี “ทรราช” สู่ “มหาราช” แห่งชมพูทวีปผู้รวมผืนแผ่นดินอินเดียให้กลายเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ ผู้ละทิ้งซากศพแห่งสงครามมุ่งสู่ทางธรรม บุคคลผู้ส่งพระสมณทูต 9 สายไปทั่วโลกและทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่และดำรงอยู่ในประเทศไทยขจรไกลและเจริญรุ่งเรืองตราบเช่นทุกวันนี้
เรื่องย่อซีรี่ส์อินเดียฟอร์มยักษ์ อโศกมหาราช – เรื่องราวความเป็นมาของชีวิตและความรักระหว่างพระเจ้าพินทุสาร และนางธรรมา ผู้เป็นพระบิดาและพระมารดาของพระเจ้าอโศก พระเจ้าพินทุสารทรงเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบันของแคว้นมคธ และพระองค์ทรงถูกเกลียดชังจาก พระนางเฮเลน่า ผู้เป็นพระชายาอีกคนหนึ่งของพระเจ้าจัทรคุปต์ พระบิดาของพระเจ้าพินทุสารและปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะ พระเจ้าพินทุสารทรงถูกบริวารของพระนางเฮเลน่าทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส แต่มีหญิงสาวชาวบ้านมาพบและช่วยเหลือพระองค์ไว้ หญิงสาวผู้มีรูปโฉมงดงามและเฉลียวฉลาดมีนามว่า ศุภัทรางคี หรือธรรมา พระเจ้าพินทุสารทรงรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณและความสามารถของนาง พระองค์ทรงตกหลุมรักนางและสมรสกัน นางธรรมาตั้งครรภ์โดยไม่ทราบเรื่องราวที่แท้จริงว่า พระเจ้าพินทุสารทรงเป็นกษัตริย์ ความจริงปรากฏเมื่อมีราชบริวารมารับตัวพระเจ้าพินทุสารกลับไป ซึ่งนางก็ยอมให้พระองค์ไปและไม่ได้ทูลบอกเรื่องที่นางตั้งครรภ์ให้ทรงทราบ นางธรรมาได้ให้กำเนิดทารกเพศชายและตั้งชื่อเขาว่า “อโศก” (ปราศจากทุกข์โศก)
14 ปีต่อมา
เรื่องราวชีวิตวัยเด็กของพระเจ้าอโศก พระองค์ได้รับการช่วยเหลือจากจาณักยะ เพื่อผ่านอุปสรรคต่างๆ นางธรรมาไม่ได้บอกเรื่องของพ่อให้เจ้าชายอโศกได้รับรู้ นางต้องการให้เขาได้ใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน แต่ต่อมา เจ้าชายอโศกก็ได้รับรู้จากหลักฐานหลายๆ อย่าง และพยายามให้พระเจ้าพินทุสารและนางธรรมากลับมาอยู่ด้วยกัน จาณักยะเชื่อว่า เจ้าชายอโศกจะเป็นผู้ปกครองที่ดีของแคว้นมคธ เพราะความไม่เห็นแก่ตัวและคำปฏิญาณที่จะรับใช้มาตุภูมิจนกว่าลมหายใจสุดท้ายของชีวิต แต่เจ้าชายอโศกไม่เคยคิดหวังจะขึ้นครองราชย์ และเชื่อว่าน้องชายต่างมารดาอย่าง เจ้าชายสยามัค จะเป็นกษัตริย์ที่เพียบพร้อมของแคว้นมคธได้
จาณักยะกับราธาคุปต์และเหล่าบริวาร ต้องวุ่นวายกับการปกป้องราชบัลลังก์ของแคว้นมคธจากความชั่วร้ายของพระนางเฮเลน่าและศัตรูของแคว้น จาณักยะได้ปฏิญาณว่าจะปกป้องมาตุภูมิ และขัดขวางพระนางเฮเลน่าอย่างสุดความสามารถ ซึ่งพระนางเฮเลน่าก็ได้วางแผนสังหารเขาในภายหลัง พระนางจารุมิตราฝึกฝนมนต์ดำ เพื่อทำร้ายนางธรรมา เจ้าชายสุศิมทรงเกลียดชังจาณักยะ เพราะเขามักจะช่วยเหลือเจ้าชายอโศกเสมอ ขณะที่ขัลลาตักมักจะอิจฉาจาณักยะ เพราะพระเจ้าพินทุสารทรงชื่นชมจาณักยะมากกว่าตน ดังนั้น พระนางเฮเลน่าจึงทรงร่วมมือกับพระนางจารุมิตรา เจ้าชายสุศิม ขัลลาตัก และเจ้าชายสยามัคที่เข้าร่วมแผนการนี้ด้วย พวกเขาสังหารจาณักยะ ซึ่งก่อนตาย จาณักยะได้บอกกับเจ้าชายอโศกว่า หนทางเดียวที่จะช่วยมาตุภูมิได้คือ เจ้าชายอโศกต้องขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ของแคว้นมคธ เจ้าชายอโศกเชื่อว่า จาณักยะถูกสังหารโดยศัตรูของแคว้นมคธ จึงตั้งใจว่า จะหาตัวคนผิดมาลงโทษ และทำให้ความต้องการสุดท้ายของจาณักยะเป็นจริง โดยการเป็นจักรพรรดิ์ของแคว้นมคธ
เพื่อการกำจัดทรราชอย่างกีจักให้สิ้นซาก เจ้าชายอโศกจึงเดินทางไปเมืองตักสิลา พระองค์ได้พบกับเจ้าหญิงกรกี เกิดเป็นความสัมพันธ์อันดีต่อกัน สร้างความไม่พอใจแก่พระเจ้าชคันนาถ พระบิดาของนาง ต่อมา เจ้าชายอโศกได้กลับมาที่เมืองปาฏลีบุตร และทราบถึงตัวคนร้ายที่สังหารจาณักยะ จึงต้องการจับคนร้ายมาลงโทษ สถานการณ์บีบบังคับให้เจ้าชายอโศกต้องโจมตีพระเจ้าพินทุสารและทำให้เจ้าชายสุศิมบาดเจ็บ ด้วยความโกรธเกรี้ยว พระเจ้าพินทุสารจึงขับไล่เจ้าชายอโศกออกจากเมือง นางธรรมาจึงออกจากเมืองไปกับเจ้าชายอโศก ทั้งคู่ย้ายไปอยู่ที่เมือง อุชเชน
10 ปีต่อมา
เจ้าชายอโศก นางธรรมา และน้องชายของเจ้าชายอโศกนามว่า วิท อาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านของพ่อค้าที่เมืองอุชเชน เจ้าชายอโศกได้สนิทสนมกับลูกสาวของพ่อค้านามว่า เทวี และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ฝั่งแคว้นมคธ เจ้าชายสุศิมแข็งแกร่งขึ้นมากจากมนต์ดำของพระนางจารุมิตรา เจ้าชายอโศกได้พบกับเจ้าชายสุศิมอีกครั้ง พวกเขาต่อสู้กันจนนางธรรมาและวิทต้องเข้ามาห้าม ทำให้ทุกคนจำพวกเขาได้ พระเจ้าพินทุสารทรงยกโทษให้แก่เจ้าชายอโศกและชักชวนให้กลับเมืองปาฏลีบุตร นางธรรมาและวิทจึงกลับไป แต่เจ้าชายอโศกปฏิเสธคำเชิญนั้น พระองค์มุ่งหน้าเข้าป่าและพบกับเจ้าหญิงกรกีอีกครั้ง
การเตรียมงานอภิเษกสมรสของเจ้าชายอโศกกับเจ้าหญิงกรกีได้เริ่มต้นขึ้น นางธรรมาและนางเทวีได้ไปหานักทำนาย และทราบว่า งานสมรสครั้งนี้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคและประชาชนบริสุทธิ์จำนวนมากจะถูกสังหารในสงครามกาลิงคะ ด้วยความหวาดกลัว นางธรรมาจึงตัดสินใจให้เจ้าชายอโศกสมรสกับนางเทวีแทนพระเจ้าชคันนาถ กล่าวกับพระเจ้าพินทุสารว่า เจ้าชายอโศกจะสามารถสมรสกับเจ้าหญิงกรกีได้ ก็ต่อเมื่อพระเจ้าพินทุสารทรงให้เจ้าชายอโศกสืบทอดบัลลังก์ต่อเท่านั้น ซึ่งพระเจ้าพินทุสารก็ทรงตกลง เมื่อถึงงานเสกสมรส เจ้าชายอโศกทรงรับรู้คำทำนายแห่งความโชคร้ายนั้น จึงทรงปฏิเสธการสมรสกับเจ้าหญิงกรกี แล้วสมรสกับนางเทวีแทน สร้างความไม่พอพระทัยแก่พระเจ้าชคันนาถเป็นอย่างมาก จึงเกิดเหตุวิวาทกัน
หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าพินทุสาร เจ้าชายสุศิมและเจ้าชายอโศกได้ต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์กัน เป็นเหตุให้เจ้าชายสุศิมสวรรคต เจ้าชายอโศกได้สถาปนาตนขึ้นเป็น “จักรพรรดิ์อโศกแห่งเมารยะ” เรื่องราวจบลงที่สงครามกาลิงคะ สงครามนองเลือดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายที่กลายเป็นตราบาปในชีวิตของพระเจ้าอโศก และทำให้พระองค์หันเข้าหาทางธรรมเป็นที่พึ่งในการปกครอง เป็นที่มาของตำนาน “อโศกผู้ทรงธรรม”
ที่มาข้อมูล – MGR