แต่ก่อนกินได้ แต่ทำไมอยู่ดี ๆ ทำไมก็มีอาการ’แพ้กุ้ง’ซะล่ะ ?

1719
views
แพ้กุ้ง

กุ้งเป็นอาหารทะเลยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบ หลายคนอาจสงสัยว่าตอนเด็กๆไม่เคยมีอาการ ‘แพ้กุ้ง’ มาก่อน แต่กลับมามีอาการแพ้กุ้งในตอนโตแล้ว มันเกิดจากอะไรกัน ?

กุ้ง

ในตัวกุ้งจะมีโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “Tropomyosin” (กุ้งทุกตัว ทุกสายพันธุ์จะมีโปรตีนตัวนี้อยู่) ซึ่งเจ้าโปรตีนตัวนี้นี่แหละ ที่ทำให้ร่างกายเราเกิดอาการแพ้ แต่บางคนก็ไม่ได้แพ้โปรตีนตัวนี้นะ อาจจะแพ้สารอื่น ๆ ในกุ้งแต่ละสายพันธุ์ก็ได้เช่นกัน แต่! สำหรับใครที่มีคำถามว่า ทำไมตอนเด็ก ๆ เราเคยกินกุ้งได้ ชนะทุกกุ้ง ไม่ว่าจะเป็นกุ้งแม่น้ำ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งขาว ฯลฯ แต่ทำไมตอนโตถึงมีอาการแพ้เกิดขึ้นล่ะ ? ซึ่งที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนั่นเอง

อาการแพ้กุ้งเป็นอย่างไร ?

โดยทั่วไป อาการแพ้อาหารนั้นเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ โดยอาจเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารในทันทีหรือเกิดขึ้นหลังรับประทานไปหลายชั่วโมง ซึ่งลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอาจแบ่งได้ ดังนี้

  • ผิวหนัง

อาการแพ้ในรูปแบบนี้มักเห็นได้ชัด อย่างลมพิษ ผื่นแดง คัน พบอาการบวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก และคอ

  • ระบบทางเดินหายใจ

เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณคอที่บวมมากขึ้นอาจส่งผลให้หายใจไม่สะดวก รวมถึงสารฮิสตามีนที่หลั่งออกมาจะส่งผลให้มีอาการไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก หรือหายใจลำบาก

  • ลำไส้และกระเพาะอาหาร

อาการแพ้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และปวดท้อง

  • ระบบประสาท

อาการแพ้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หน้ามืด และเป็นลมได้

  • ภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง

ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่เป็นภาวะที่อันตรายจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยภาวะนี้จะส่งผลให้หายใจไม่ออก หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดต่ำลง ช็อก หมดสติ และเสียชีวิต ดังนั้น หากปรากฏสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงให้โทรเรียกรถพยาบาลทันที

กุ้งแช่บ๊วย

เมื่อแพ้กุ้งแล้วต้องรีบดูแลตัวเองอย่างเร่งด่วน!
  1. ถ้าแพ้กุ้งแล้วมีอาการคัน ให้ใช้ยาแก้คันทาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น คาลาไมน์ (Caramide)

2. หลีกเลี่ยงการกินกุ้งและอาหารที่มีกุ้งเป็นส่วนผสม

3. รีบไปพบแพทย์ เมื่อมีอาการแพ้กุ้งที่รุนแรงขึ้น เช่น หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก

อาการแพ้กุ้งจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของแต่ละคน แต่! ทางที่ดีถ้ารู้ตัวว่ามีอาการแพ้กุ้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ใครแพ้ก็ให้หลีกเลี่ยง อย่าไปฝืนกินกุ้งด้วยประการทั้งปวง เพื่อป้องกันอาการแพ้กุ้งกำเริบ  ถ้าหากใครเกิดแพ้กุ้งตอนโต ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะยังมีอาหารทะเลชนิดอื่น ๆ รอให้กินอยู่อีกเพี๊ยบ! เพราะฉะนั้นถ้างดได้ก็งด เพื่อตัวเอง จะได้ไม่ต้องมาทรมานกับอาการแพ้กุ้งยังไงล่ะ!

ข้อมูลอ้างอิง : afterklass/pobpad

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร