๙ โบราณสถานเมืองชุมพร

1413
views
๙ โบราณสถานเมืองชุมพร

ชุมพร คือ “ประตูสู่ภาคใต้” ที่ใครหลายคนอาจมองว่าเป็นทางผ่านเมื่อเดินทางลงใต้ แต่แท้ที่จริงแล้ว จังหวัดชุมพรนั้นเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

คำว่า “ชุมพร” ตามอักษรแยกได้เป็น ๒ คำ คือ คำว่า “ชุม” ซึ่งมีความหมายว่า รวม,ชุก,มาก,รวมกันอยู่ และคำว่า “พร” ซึ่งมีความหมายว่า ของดี,ของที่เลือกเอา,ของประเสริฐ มีผู้สันนิษฐานว่าชุมพรนั้นมาจากคำว่า “ชุมนุมพล” ซึ่งแปลได้ว่า “รวมกำลัง” เนื่องจากในสมัยก่อนชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านทางภาคใต้ และกองทัพมักจะมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองชุมพร คำว่าชุมพรจึงเป็นไปได้ว่าเกิดจากการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่าประชุมพล ที่ต่อมาเพี้ยนกลายมาเป็น “ชุมพร” ในเวลาต่อมานั่นเอง

บริเวณพื้นที่จังหวัดชุมพรพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ ตามแหล่งโบราณคดีบริเวณเทือกเขา และภูเขาหินปูน ต่อมาในสมัยเหล็ก และสำริด พบหลักฐานบริเวณแหล่งโบราณคดีทางฝั่งตะวันออกในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล และพื้นที่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน ผู้คนในชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้เองที่ต่อมาปรับตัว รับวัฒนธรรมจากต่างแดน และเป็นส่วนหนึ่งของการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนบนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชนบนพื้นราบ สืบเนื่องมาถึงยุคประวัติศาสตร์ ในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ

โบราณสถานวัดดอนสะท้อน

๑. โบราณสถานวัดดอนสะท้อน

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๖ บ้านดอนสะท้อน ตำบลปากแพรก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

ประวัติและความสำคัญ

วัดดอนสะท้อน เป็นวัดโบราณมาแต่เดิม ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ สมัยหลวงพ่อทองพทฺธสุวณฺโณ เป็นเจ้าอาวาส โดยสร้างกุฏิครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เรียกกันว่า “กุฏิหลวงพ่อทอง” เป็นอาคาร ๒ ชั้น ทรงปั้นหยา มีมุขยื่นด้านหน้า ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนทำเป็นห้อง มีระเบียงล้อมรอบ เสาย่อมุมไม้สิบสองมีบัวหัวเสา เหนือกรอบประตูและหน้าต่างเป็นวงกบโค้งประดับไม้ฉลุลาย ส่วนอาคารชั้นบนเป็นไม้ ส่วนหน้าเป็นระเบียงมีลูกกรงไม้ ส่วนในแบ่งเป็น ๓ ห้อง ห้องใหญ่ ๑ ห้อง ห้องเล็ก ๒ ห้อง ฝาไม้กระดานตีซ้อนเกล็ดแนวนอนทาสีเหลืองมัสตาร์ด ประตูหน้าต่างลูกฟัก ช่องลมเป็นแผ่นไม้ฉลุลาย หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ ซึ่งแต่เดิมมุมด้วยกระเบื้องดินเผา ชั้นบนของกุฏิมีประตูไม้บานเฟี้ยม เปิดได้เกือบตลอดแนวเหนือบานเฟี้ยมเป็นกรอบไม้ฉลุลายดอกไม้สี่กลีบประกอบลายพันธุ์พฤกษา ใต้กรอบไม้นี้มีข้อความเขียนว่า “หลวงพ่อทอง พุทฺธสุวณฺโณ มหาเถระและพุทธบริษัทสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ พระสมุห์บุญไทย โกวิโท และพุทธบริษัทบูรณะใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖”

นอกจากนี้หลวงพ่อทองยังได้สร้าง วิหาร หรือศาลาโรงธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ตั้งอยู่ข้างอุโบสถ เป็นอาคารโถง ขนาด ๑๐.๖๐ x ๒๐.๕๐ เมตร มีราวลูกกรงทรงลูกมะหวดแบนล้อมรอบ บันไดด้านหน้ามีปูนปั้นรูปสิงห์และเสือเป็นเสมือนทวารบาล ส่วนหลังคาทรงไทย โครงสร้างไม้มุงกระเบื้องลอนคู่ กรอบหน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทำด้วยซีเมนต์ หน้าบันเป็นไม้กระดานเรียบ ด้านหลังยังมีร่องรอยการเขียนสีปรากฏอยู่ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น หน้าตักกว้าง ๑.๐๗ เมตร สูง ๑.๓๕ เมตร สำหรับอุโบสถหลังใหม่สร้าง ณ ตำแหน่งอุโบสถหลังเดิม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕

อายุสมัย สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๐ ง หน้า ๔ วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๑๓ ไร่ ๓ งาน ๔๙ ตารางวา

โบราณสถานวัดพระธาตุสวี (วัดสวี)

๒. โบราณสถานวัดพระธาตุสวี (วัดสวี)

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๑ บ้านวัดสวี ตำบลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

ประวัติและความสำคัญ

พระธาตุสวี หรือพระบรมธาตุสวี เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบจากพระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง เป็นเจดีย์สูง ๑๔.๒๕ เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๘.๕๐ เมตร มีซุ้มช้างและยักษ์ยืน มีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออก ชั้นบนทำเป็นซุ้มพระล้อมรอบ ต่อด้วยเจดีย์ทรงระฆังประดับกระเบื้องโมเสกสีทอง และมีเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุมทั้งสี่

มีตำนานเล่าว่าครั้งหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เสด็จยกทัพมาถึงเขตอำเภอสวี ได้พบเหตุการณ์ประหลาด มีกาฝูงหนึ่งบินมาจับอยู่บนกองอิฐพากันส่งเสียงร้องและกระพือปีกอื้ออึง เมื่อรื้อกองอิฐออกก็พบฐานเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุ จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์และสมโภช ๗ วัน ๗ คืน แล้วขนานนามพระเจดีย์องค์นี้ว่า “พระธาตุกาวีปีก” (วีปีก เป็นภาษาปักษ์ใต้ หมายถึง กระพือปีก) ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนสั้นลงว่า พระธาตุสวี ตำนานยังเล่าอีกว่า ก่อนที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจะเสด็จยกทัพกลับ ทรงเรียกหานายทหารที่สมัครใจจะอยู่ดูแลรักษาองค์พระธาตุ เผอิญมีทหารนายหนึ่งชื่อ “นายเมือง” รับอาสา พระองค์จึงรับสั่งให้ตัดศีรษะนายเมืองเพื่อเซ่นสรวงเป็นดวงวิญญาณรักษาพระธาตุสืบไป โดยตั้งศาลไว้เรียกว่า “ศาลพระเสื้อเมือง” ปัจจุบันอยู่ทางด้านหน้าหรือทางทิศตะวันออกของพระธาตุสวี ซึ่งถัดไปจะเป็นแม่น้ำสวี เดิมเป็นอาคารไม้ก่อเป็นโรงเรือนปิดทึบ ต่อมาได้บูรณะใหม่เป็นอาคารทรงไทยหลังคาจั่วแบบตรีมุข มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ

สำหรับวัดสวี มีประวัติว่าตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ต่อมาในสมัยต้นรัชกาลที่ ๖ ยอดพระธาตุได้หักพังลง จึงมีการบูรณะครั้งใหญ่ และมีการทำนุบำรุงรักษาสืบมา

อายุสมัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๑๒๗ ง หน้า ๑๐ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๓๐ ตารางวา

โบราณสถานวัดสุทธาวาสธาราม (วัดประเดิม)

๓. โบราณสถานวัดสุทธาวาสธาราม (วัดประเดิม)

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๒ บ้านวัดประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

ประวัติและความสำคัญ

วัดสุทธาวาสธาราม เป็นวัดโบราณเก่าแก่ เล่ากันว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งเมืองชุมพรเก่า และเป็น วัดแรกที่สร้างขึ้นจึงเรียกว่า “วัดประเดิม” อีกกระแสหนึ่งเล่าว่า เดิมบริเวณนี้มีวัดเก่า ๒ แห่งคู่กันคือ วัดนอกและวัดใน ต่อมาจึงได้รวมกันเป็นวัดประเดิม

สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่ พระปรางค์ เดิมมีรูปทรงเตี้ยมิได้ยกสูง โดยรอบไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ ใน ปีพ.ศ. ๒๔๖๑ ได้มีการขุดปรับพื้นที่ทำให้พบพระบรมสารีริกธาตุ จึงมีการบูรณะพระปรางค์ขึ้นใหม่และก่อสร้างสิ่งต่างๆ รายล้อมเพิ่มเติม องค์พระปรางค์จึงมีรูปทรงสูงชะลูดราว ๑๕ เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้ยี่สิบ รองรับส่วนเรือนธาตุและส่วนยอดซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป โดยรอบเป็นระเบียงคดในผังหกเหลี่ยม มีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งเรียงเป็นแถว ส่วนกำแพงด้านหน้าประดับลูกกรงปูนปั้นรูปยักษ์แบก

นอกจากนี้ ยังมีสถาปัตยกรรมศิลปะพื้นถิ่นที่สำคัญ คือ กุฏิพระเวศ ภูริปญฺโญ เป็นอาคารไม้ หมู่เรือนไทย ทรงปั้นหยาผสมทรงจั่ว ใต้ถุนสูง ตรงกลางมีบันไดทางขึ้นทำเป็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูน ด้านข้างซ้าย – ขวาเป็นมุขหน้าจั่ว ยอดจั่วประดับเสากลึง หน้าจั่วประดับลายฉลุไม้ มุขด้านซ้ายเป็นรูปครุฑ มุขด้านขวาเป็นรูปหงส์ ที่ผนังอาคารทางขวามือมีจารึกว่า “กุฏิพระเวศภูริปัญโญ สร้าง พ.ศ.๒๔๗๓ สำเร็จ พ.ศ.๒๔๘๐” ถัดลงไปด้านล่างเป็นแทงค์น้ำมีจารึกว่า “พระใบฎีกาพรัด วิมโล กับญาติสร้าง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒” อาคารหลังนี้เคยใช้เป็นโรงเรียน พระปริยัติธรรม ปัจจุบันปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

อายุสมัย สมัยอยุธยาตอนปลาย – รัตนโกสินทร์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๒๖ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙

๔.โบราณสถานมาลิกเจดีย์ เกาะมัตโพน

๔. โบราณสถานมาลิกเจดีย์ เกาะมัตโพน

ที่ตั้ง เกาะมัตโพน ตำบลปากน้ำชุมพร อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

ประวัติและความสำคัญ

เกาะมัตโพน เป็นเกาะขนาดเล็ก อยู่ห่างจากชายฝั่งตรงปากน้ำชุมพรประมาณ ๕๐๐ เมตร ตัวเกาะมีขนาดกว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๓๕๐ เมตร ยอดเขาสูง ๑๕ เมตร มีแนวสันทรายจากชายฝั่งถึงตัวเกาะ จึงสามารถเดินเท้าไปมาได้ในเวลาน้ำทะเลลง

บนยอดเขามีเจดีย์ชื่อ “มาลิกเจดีย์” ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน สูง ๙.๖๐ เมตร ฐานล่างกว้าง ๓.๗๐ x ๓.๘๕ เมตร แต่ละด้านทำเป็นเสาอิง ๓ เสา ถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์และฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ประดับปูนปั้นรูปดอกไม้ ใบไม้ หน้ากาล กระจัง และลายกนก เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีบัลลังก์ทรงบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยม ต่อด้วยบัวกลุ่มเถา ๓ ชั้น ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง พบศิลาจารึกกล่าวถึงประวัติการสร้างเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุไว้ที่เกาะแก้วมัตโพน เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๖ และมีการบูรณะโดยนายคูจับฮุยยี่ห้อย่งเส้ง คหบดีชาวจีน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ในทุกๆ ปีจะมีงานแห่ผ้าห่มพระเจดีย์ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ ของทุกปี

ปัจจุบันบนเกาะมัตโพนยังเป็นที่ตั้งของประภาคารเกาะมัตโพน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และจากการสำรวจพื้นที่บริเวณชายหาดยังพบชิ้นส่วนชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ชิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕) สมัยสาธารณรัฐ (พุทธศตวรรษที่ ๒๕)

อายุสมัย สมัยรัตนโกสินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๖

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๘๓ ง หน้า ๕ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒๐ ตารางวา

๕.โบราณสถานวัดถ้ำเขาขุนกระทิง (เขานาพร้าว)

๕. โบราณสถานวัดถ้ำเขาขุนกระทิง (เขานาพร้าว)

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๘ บ้านหน้าถ้ำ ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

ประวัติและความสำคัญ

เขาขุนกระทิง หรือเขานาพร้าว เป็นภูเขาหินปูนลูกโดด รูปร่างคล้ายวงรี ยาวตามแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ประมาณ ๑ กิโลเมตร กว้างตามแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกประมาณ ๔๕๐ เมตร มียอดเขาสูง ๑๕๓ เมตร

เขาแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานภาพเขียนสีบนผนังเพิงผาก่อนถึงถ้ำพระ ลักษณะภาพเป็นลายเส้นสีแดง เป็นเส้นตรง เส้นหยัก และวงกลมประกอบกัน เป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นภาพเรือ
ต่อมาในสมัยอยุธยาได้มีการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ปูนปั้น ลงรักปิดทอง ศิลปะอยุธยา ยาว ๔.๖๐ เมตร สูง ๑.๘๐ เมตร ประทับตะแคงขวา หันพระเศียรไปทางทิศใต้ พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันออก ประดิษฐานไว้ภายในถ้ำ เรียกว่า “ถ้ำพระ” ลักษณะเป็นถ้ำขนาดเล็ก อยู่สูงจากพื้นราบประมาณ ๑๕ เมตร ปากถ้ำอยู่ทางทิศตะวันออก ภายในถ้ำมีขนาดกว้าง ๖.๒๐ เมตร ยาว ๑๑.๖๐ เมตร
สำหรับวัดถ้ำเขาขุนกระทิง ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขา ก่อตั้งในภายหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ จากการตัดถนนเพชรเกษมผ่านหน้าเขา โดยตั้งเป็นสำนักสงฆ์มาก่อน ได้จดทะเบียนเป็นวัดในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐

อายุสมัย ยุคก่อนประวัติศาสตร์, สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๘๓ ง หน้า ๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓๕ ตารางวา

๖.โบราณสถานพระธาตุมุจลินทร์

๖. โบราณสถานพระธาตุมุจลินทร์

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๑ บ้านหนองจิก ตำบลทุ่งตะไคร อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

ประวัติและความสำคัญ

วัดมุจลินทราราม เดิมชื่อวัดหนองจิก เนื่องจากบริเวณวัดเคยมีต้นจิกใหญ่ขึ้นอยู่ริมหนองน้ำ เมื่อมีการตั้งชื่อวัดจึงตั้งชื่อเป็นภาษาบาลีว่า วัดมุจลินทาราม

วัดแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๐ เดิมตั้งอยู่บริเวณเดียวกันนี้ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้ย้ายวัดไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ ห่างไปราว ๗๐๐ เมตร ส่วนวัดเดิมนั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดมุจลินทาราม โดยคงเหลือเจดีย์เก่าอยู่องค์หนึ่ง คือ “พระธาตุมุจลินทร์” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อท่านในกุฏิ” เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๒.๒๐ x ๒.๒๐ เมตร สูง ๗.๔๐ เมตร จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พบว่า เจดีย์องค์นี้มีการสร้างต่อเติมอย่างน้อย ๔ ระยะ ระยะแรกมีอายุในสมัยรัชกาลที่ ๓ และน่าจะมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ – ๗ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการนำปูนซีเมนต์มาใช้อย่างแพร่หลาย

ลักษณะสถาปัตยกรรมประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนกัน ๓ ชั้น รองรับฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบหก ต่อด้วยส่วนเรือนธาตุย่อมุมไม้สิบหก มีประตูหลอกทุกด้าน สองข้างประตูประดับปูนปั้นรูปยักษ์เป็นทวารบาลในท่ายืนและนั่ง ถัดขึ้นไปเป็นชุดบัวปากระฆังในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับองค์ระฆังทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบหก บัลลังก์ย่อมุม บัวกลุ่มเถา ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง

อายุสมัย สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๘๓ ง หน้า ๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒๕ ตารางวา

๗. โบราณสถานวัดขันเงิน (วิหารวัดขันเงิน)

๗. โบราณสถานวัดขันเงิน (วิหารวัดขันเงิน)

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๔ บ้านวังตะกอ ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

ประวัติและความสำคัญ

วัดขันเงิน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหลังสวน ตามประวัติวัดของกรมการศาสนากล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๐ เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่วัดหนึ่งในอำเภอหลังสวน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ภายในวัดมีสิ่งสำคัญ ได้แก่

๑. พ่อหลวงอินทร์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๗๓ เมตร สูง ๒.๓๕ เมตร ศิลปะแบบพื้นถิ่น เคยเป็นพระประธานในอุโบสถหลังเก่ามาแต่เดิม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ จึงทำการเคลื่อนย้ายและสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานอยู่ข้างอุโบสถหลังใหม่นั้น ชาวบ้านเรียกว่า “โบสถ์น้อย” มีขนาดกว้าง ๕.๑๐ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และบูรณะอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘

๒. อุโบสถหลังใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงจตุรมุข ขนาดกว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๓๒ เมตร

๓. หอระฆัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ คอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ขนาดกว้าง

๔.๖๐ x ๔.๖๐ เมตร มีระฆังสร้าง พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยคุณวรรณา โปตรัษฐ

อายุสมัย สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๐ ง หน้า ๕ วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒๔ ตารางวา

๘.โบราณสถานวัดเขาเจดีย์

๘. โบราณสถานวัดเขาเจดีย์

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๗ บ้านบางสน ตำบลบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

ประวัติและความสำคัญ

เขาเจดีย์ เป็นเขาลูกโดดขนาดเล็ก สูงประมาณ ๕๐ เมตร บนยอดเขาเป็นลานกว้าง เป็นที่ตั้งของเจดีย์เก่าแก่ ๑ องค์ ลักษณะเป็น เจดีย์ทรงระฆัง ฐานล่างสุดเป็นลานประทักษิณ กว้างด้านละ ๘.๘๐ เมตร มีเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ทั้งสี่มุม มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศตะวันออก ฐานเจดีย์เป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๔.๒๐ เมตร ต่อด้วยฐานย่อมุมไม้สิบสอง ลักษณะเป็นขาสิงห์แบบเรียบๆ ๒ ชั้น รองรับฐานบัวคว่ำบัวหงาย ๒ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นบัวปากระฆังและองค์ระฆังทรงกลมชลูด มีบัลลังก์เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยม ต่อด้วยปล้องไฉนแบบเรียบ (ไม่มีปล้อง) และยอดบนสุดเป็นรูปดอกบัวตูม ที่ส่วนฐานด้านหน้าเจาะเป็นซุ้ม เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดง (ปัจจุบันเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ในศาลาการเปรียญ และนำพระพุทธรูปองค์ใหม่มาประดิษฐานแทนที่) รูปทรงของเจดีย์จัดเป็นศิลปะในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ ใกล้กันมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติ นามว่า พระบูรพาบรรพต และวิหารพระพุทธบาทซึ่งสร้างเพิ่มเติมในปัจจุบัน

ประวัติการสร้างเจดีย์ปรากฏแต่เพียงเรื่องเล่าว่า เจ้าอ้ายพญาและเจ้ายี่พญา เดินทางมาจากกรุงศรีอยุธยา พร้อมทรัพย์สินเงินทองเพื่อไปร่วมสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ที่เมืองนครศรีธรรมราช ครั้นทราบว่าพระมหาธาตุเจดีย์ได้สร้างเสร็จก่อนแล้ว จึงสำรวจหายอดเขาที่สวยงาม แล้วสร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้บนยอดเขา เรียกว่า “เขาเจดีย์” ต่อมาพระเจดีย์ได้ถูกทิ้งร้างไปจนไม่มีผู้ใดทราบประวัติที่แน่ชัด กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เริ่มมีพระสงฆ์เข้ามาจำพรรษา และพัฒนาเป็นวัดสืบมาจนปัจจุบัน

อายุสมัย สมัยอยุธยาตอนปลาย – สมัยรัตนโกสินทร์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒ ตอนพิเศษ ๓๙ ง หน้า ๘ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๘ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๕๐ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา

๙.โบราณสถานภูเขารับร่อ (วัดเทพเจริญ)

๙. โบราณสถานภูเขารับร่อ (วัดเทพเจริญ)

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๔ บ้านท่าข้าม ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร

ประวัติและความสำคัญ

ภูเขารับร่อหรือเขาพระ เป็นภูเขาหินปูนวางตัวตามแนวทิศเหนือ – ทิศใต้ ยาว ๒ กิโลเมตร กว้าง ๑.๒๕ กิโลเมตร ยอดเขาสูง ๑๘๓ เมตร โดยถ้ำรับร่อตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของภูเขา ถ้ำเหล่านี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน โดยสำรวจพบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ขวานหินขัด และเศษภาชนะดินเผา กระทั่งเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์มีตำนานเล่าว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองเก่าชื่อ “เมืองอุทุมพร” ร่วมสมัยกับเมืองนครศรีธรรมราช ใช้ถ้ำเป็นศาสนสถาน ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวนมากกว่า ๘๑ องค์ แบ่งเป็น ๓ กลุ่มดังนี้

๑. กลุ่มหน้าเพิงผาฝั่งซ้าย มีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ๓ องค์ จารึกระบุว่าบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ และยังมีพระพุทธรูปขนาดย่อมและพระสาวกอีก ๑๖ องค์

๒. กลุ่มหน้าเพิงผาฝั่งขวา มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานสูง ด้านล่างมีภาพพระแม่ธรณี บุคคลพนมมือ เทวดา ยักษ์ สัตว์ป่า และภาพเล่าเรื่องราว มีจารึกระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๕

๓. กลุ่มภายในถ้ำพระ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่เป็นประธาน นามว่า “พ่อปู่หลักเมือง” ขนาดหน้าตักกว้าง ๓.๒๕ เมตร สูง ๔.๕๐ เมตร มีพระไสยาสน์ ๒ องค์ ขนาดยาว ๕.๘๐ และ ๔ เมตร มีพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ๑ องค์ สูง ๒.๕๐ เมตร และมีพระพุทธรูปขนาดย่อมลงมาอีกจำนวนกว่า ๕๗ องค์ จากพุทธลักษณะกำหนดอายุได้ในสมัยอยุธยาและสืบเนื่องต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมรูปพระไสยาสน์ ขนาดยาว ๔.๘๐ เมตร กว้าง ๒ เมตร เขียนด้วยสีแดง ดำ ขาว และเหลือง และมีภาพบุคคลอยู่ที่ปลายพระบาท ภายในถ้ำอ้ายเตย์ ซึ่งตั้งตามชื่อบุคคลในภาพจิตรกรรม สำหรับวัดเทพเจริญ ตั้งขึ้นภายหลัง มีการผูกพัทธสีมาอุโบสถเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗

อายุสมัย ยุคก่อนประวัติศาสตร์, สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๒๖ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙

นอกจากโบราณสถาน (ขึ้นทะเบียนฯ) ที่ได้กล่าวมาแล้ว ภายในจังหวัดชุมพร ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพรเป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของจังหวัดชุมพร สำหรับผู้ที่สนใจทางด้านประวัติศาสตร์ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมนิทรรศการเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีโบราณสถานอื่น ๆ อีกหลายแห่งที่มีทั้งความสวยงามและทรงคุณค่าแก่การเข้าไปเยี่ยมชม

ขอบคุณข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
เรียบเรียง/กราฟิก : นางสาวโสมสินี สุขเกษม นักวิชาการวัฒนธรรม
ตรวจทาน : นางศิริพร สังข์หิรัญ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร