วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี นับเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วันที่ 28 ธันวาคม 2310) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว
พระยาวชิรปราการ (สิน) ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทยขณะมีพระชนมายุ 33 พรรษา และทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และการเมืองเป็นสำคัญ ทำให้เจ้าตากมา “ยับยั้ง” อยู่ ณ เมืองธนบุรี ซึ่งมีลักษณะเป็นราชธานีไม่ถาวร ก่อนหน้านั้น เมืองธนบุรีถูกทิ้งร้าง มีต้นไม้ขึ้นและซากศพทิ้งอย่างเกลื่อนกลาด ทำให้ต้องมีการเกณฑ์แรงงานจัดการพื้นที่ขึ้นมาใหม่ เจ้าตากยังมีรับสั่งให้คนไปอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยตอนปลายอยุธยาจากเมืองลพบุรีมายังเมืองธนบุรี และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศตามโบราณราชประเพณี
หลังจากที่อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร แต่เอกสารทางราชการสมัยกรุงธนบุรียังคงเรียกนามเมืองหลวงตามเดิมว่า “กรุงพระมหานครศรีอยุธยา” เจ้าตากทรงปราบดาภิเษกขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามแบบพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า จดหมายเหตุโหรระบุว่าเป็นวันอังคาร แรมสี่ค่ำ จุลศักราช 1129 ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาธิไธยว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ในขณะที่ยังมีพระชนมายุ 34 พรรษา
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้มีผู้ที่มีแนวคิดต้องการรื้อฟื้นราชอาณาจักรอยุธยาขึ้นมาใหม่มาเข้าร่วมด้วยกับชุมนุมของพระองค์เป็นอันมาก ทำให้สถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์เด่นชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งพระองค์ยังทรงเริ่มประกอบพระราชกรณียกิจตามแบบอย่างพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อแสดงถึงสิทธิธรรม การเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานียังถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากสงครามกับพม่าด้วย
หลังจากทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2310 เป็นพระราชวังหลวงซึ่งใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ พร้อมกับปรับปรุง “ป้อมวิไชยเยนทร์” และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ตำแหน่งของพระราชวังนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ
ที่มา นิธิ เอียวศรีวงศ์.