กรมการแพทย์แผนไทยและการแทย์ทางเลือก เผยถึงสรรพคุณจากส่วนต่างๆ ของ “กลัวยน้ำว้า” ว่า ผลกล้วยดิบ ผลกล้วยสุก และ ปลีกล้วย เป็นยารักษาโรคตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย อีกทั้งยังสามารถนำมาประกอบอาหาร และ ส่วนต่างๆ ของกล้วย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า ยังมีสรรพคุณทางยา อีกด้วย ได้แก่
ผลกล้วยน้ำว้าดิบมีรสฝาด บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ (อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน) เนื่องจากสารแทนนินในกล้วยน้ำว้าดิบหรือห่าม มีสรรพคุณช่วยลดการหดเกร็งและลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ จะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ วิธีรับประทาน ให้รับประทานครั้งละ ครึ่งลูก หรือ 1 ลูก หรือฝานเป็นแว่น ๆ ตากแดดให้แห้งแล้วบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 10 กรัม ชงในน้ำร้อน 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรได้บรรจุให้ยากล้วย มีข้อบ่งใช้สำหรับ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
สำหรับข้อควรระวัง ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีอาการท้องผูก และการรับประทานยานี้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ท้องอืดได้
ผลกล้วยน้ำว้าสุก มีรสหวาน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก เนื่องจากมีสารเพคตินอยู่เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มกากอาหารให้กับลำไส้ เมื่อผนังลำไส้ถูกดันก็จะทำให้รู้สึกอยากชับถ่าย วิธีรับประทาน ให้รับประทานครั้งละ 1 – 2 ลูก และดื่มน้ำเปล่าตามมาก ๆ
เปลือกกล้วย ยังมีประโยชน์โดยจะช่วยผลัดเซลล์ผิวและช่วยให้ผิวพรรณนุ่มชุ่มชื้น ช่วยแก้ปัญหา ข้อศอกต้าน ข้อเข่าด้าน โดยวิธีการทำ หลังจากอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายแล้ว ให้นำเปลือกกล้วยโดยนำด้านในของเปลือกกล้วยมาขัดถู และพอกบริเวณข้อศอกหรือข้อเข่า ทิ้งไว้ 10 -15 นาที แล้วล้างออก
หัวปลี สรรพคุณ บำรุงโลหิตสำหรับมารดาหลังคลอด และช่วยบำรุงน้ำนมในสตรีที่ให้นมบุตร หรือนำมาประกอบเมนูอาหารได้หลากหลาย เช่น แกงเลียงหัวปลี ต้มยำหัวปสี ยำหัวปลี เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สามารถขอคำปรึกษา จากแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขทรศัพท์ 0 2149 5678หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ที่มา : กรมการแพทย์แผนไทยฯ