สายบุญเตรียมตัว! กำหนดเปิด ประเพณีขึ้นเขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี เพื่อให้นักแสวงบุญ และผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทหลวง 1 ปีมีครั้ง ระยะเวลา 2 เดือน บอกเลยว่าใครยังไม่เคยไป หรืออยากไปซ้ำก็พลาดไม่ได้แล้ว
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เตรียมเปิดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) ประจำปี พ.ศ.2567 ให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ซึ่งเป็นงานประเพณีที่เปิดปีละครั้ง ระยะเวลา 2 เดือน ได้ขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย ในทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 9 เมษายน 2567
โดยจะมีพิธีบวงสรวงปิดป่า-เปิดเขา ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 และพิธีบวงสรวงเปิดป่า-ปิดเขา ในวันที่ 9 เมษายน 2567
ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละช่วงเวลา ประมาณ 6,000 คน โดยอุทยานฯ ได้พิจารณาตามขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ คำนวณจากพื้นที่ใช้สอยบริเวณที่จัดงานประเพณี (1 คน ใช้พื้นที่ 4 ตร.ม.)
ค่าบริการสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญ
– ค่ารถยนต์บริการ 200 บาท/คน
– ค่าเข้าอุทยานฯ ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เข้าฟรี
ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
สำหรับ “รอยพระพุทธบาทพลวง” หรือ “รอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ” นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากรอยพระพุทธบาทดังกล่าวประดิษฐานอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,050 เมตร
รอยพระพุทธบาทพลวงขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และมีความเชื่อว่าผู้ที่เดินขึ้นไปถึงยอดเขาซึ่งมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่นั้นจะได้บุญสูง อีกทั้งยังเชื่อกันว่า การได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงบนยอดเขาคิชฌกูฏ เปรียบได้กับการเข้าเฝ้าองค์พระศาสดา ถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ในแต่ละปีจึงมีพุทธศาสนิกชนนับแสนหลั่งไหลมาสักการะรอยพระพุทธบาทด้วยความศรัทธาเป็นจำนวนมหาศาลในทุกๆปี
ใกล้ ๆ กับรอยพระบาทพลวงยังมี “หินลูกพระบาท” หรือ “หินลูกบาตร” ก้อนหินใหญ่รูปทรงคล้ายบาตรคว่ำ ตั้งตระหง่านอยู่ริมหน้าผา ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติสรรค์สร้างอันน่าทึ่งแห่งยอดเขาคิชฌกูฏ ที่หินก้อนใหญ่ยักษ์เช่นนี้สามารถตั้งอยู่บนชะง่อนผาที่ลาดเอียงอย่างมั่นคง
คนที่ขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทแล้วมักจะเดินต่อไปจนถึงจุดที่เรียกว่า “ผ้าแดง” ที่อยู่ห่างออกไปอีกราว 500 เมตร เพื่อไปผูกผ้าสีแดงที่เขียนคำอธิษฐานไว้
หากใครสนใจเข้าเที่ยวชมภายในอุทยานฯ หรืออยากขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาทด้านบนสักครั้ง สามารถจองคิวขึ้นนมัสการฯ ในแอปพลิเคชั่น KCKQue (พระบาทเขาพลวง) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี โทร. 039 609 672
ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ
พระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง และเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขาม ผู้สืบค้นประวัติเขาคิชฌกูฏ กล่าวไว้โดยย่อว่า เมื่อ พ.ศ. 2397 นายติ่งและคณะได้พากันขึ้นไปบนเขาหาไม้กฤษณา ไม้กะลำพักมาขาย ต้องขึ้นไปพักอยู่บนเขาเป็นเวลาหลายวัน และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้างใหญ่ เพื่อนของนายติ่งคนหนึ่งได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพัก ก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ และเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอยต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี รุ่งขึ้นก็มีงานเทศกาลปิดรอยพระพุทธจำลอง นายติ่งจึงซื้อทองไปปิดรอยพระพุทธบาทนั้น เมื่อปิดแล้วจึงพูดขึ้นว่ารอยพระพุทธบาทเช่นนี้ทางบ้านผมก็มีเหมือนกัน
พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดพลับ (หลวงพ่อเพชร) ทราบ ขณะนั้นหลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี จึงเรียกนายติ่งมาสอบถาม แล้วพาคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู ก็เป็นความจริง และตรวจดูตามบริเวณนั้นทั่วๆ ไปก็พบสิ่งแปลกประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง รอยพระพุทธบาทนั้นท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ บรรจุคนนั่งได้เป็นร้อยกว่าคนบนยอดเขาสูงสุดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกกันว่า หินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมาน่าแปลกมหัศจรรย์เป็นอย่างมากไม่น่าจะตั้งอยู่ได้ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉยๆ มีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดมาได้
ตามความเชื่อ ว่ากันว่าใครได้มานมัสการรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาคิชฌกูฏก็เหมือนได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะได้รับกุศลอันยิ่งใหญ่ มีแต่ความสุขความเจริญ หากได้มาอธิษฐานขอพรแล้วจะสมหวังดั่งใจปรารถนา