เล่าสู่กันฟัง…ตำนาน “การกรวดน้ำ” อุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ อย่างเข้าใจและรู้ความหมาย

1978
views
ตำนาน

การกรวดน้ำ เป็นพิธีกรรมหนึ่งในการอุทิศบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการหลั่งน้ำ ซึ่งชาวพุทธนิยมปฏิบัติหลังจากทำบุญในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีมงคล หรืออวมงคล เช่น งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ

กรวดน้ำ

ลักษณะของกรวดน้ำ โดยทั่วไป คือ การนำน้ำสะอาดใส่ในภาชนะอย่างแก้ว ขวด หรือคนโทเล็กๆ จากนั้นเทลงในภาชนะที่รองรับอีกที โดยให้เริ่มรินน้ำตั้งแต่พระขึ้นคำว่า “ยถา วาริวะหา…..” จนถึงคำว่า “มณิ โชติรโส ยถา” ก็เทน้ำให้หมดพอดี เมื่อพระขึ้นคำว่า “สัพพีติโย…..” ก็ให้นั่งประนมมือฟังต่อจนสวดจบ เป็นอันเสร็จพิธีกรวดน้ำ จากนั้น จึงนำน้ำนั้นไปเทที่ดินหรือตามโคนต้นไม้ (คำว่า “กรวด” มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร แปลว่า เทน้ำหรือหลั่งน้ำ)

สำหรับบทสวดที่ขึ้นต้นว่า “ยถา วาริวะหา ฯ” นั้นเป็นคำสวดที่อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนที่ขึ้นต้นด้วย “สัพพีติโย ฯ” เป็นการให้พรแก่ผู้ทำบุญที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมักเรียกรวมโดยใช้คำขึ้นต้นของทั้งสองบทว่า “ยถา-สัพพี” อันหมายถึง การอุทิศบุญให้คนตายและให้พรคนเป็น หรือพูดภาษาปากก็ว่า ยถา ให้ผี – สัพพี ให้คน ซึ่งจะขอนำบทสวดพร้อมคำแปลโดยประมาณมาให้อ่าน เพื่อว่าเมื่อเรากรวดน้ำครั้งต่อไป จะได้เข้าใจและทราบถึงความหมายของคำสวดดังกล่าวยิ่งขึ้น

บทสวดแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ยถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง ห้วงน้ำที่เติมเต็มมหาสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด
เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ ทานที่ท่านอุทิศในครั้งนี้ ย่อมนำประโยชน์อันเต็มเปี่ยม ส่งให้กับผู้ล่วงลับไปแล้วได้บริบูรณ์ฉันนั้น
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ ขอให้ผลบุญที่ท่านปรารถนา ตั้งใจ จงสำเร็จโดยพลัน
สัพเพ ปูเรนติ สังกัปปา ขอให้บุญทั้งปวงนี้จงมีผลบริบูรณ์
จันโท ปัณณะระโส ยถา มะณิ โชติระโส ยถา ดั่งพระจันทร์วันเพ็ญ และดั่งอัญมณีอันสว่างไสว

บทสวดอวยพรแก่ผู้ทำบุญ

สัพพีติโย วิวัชชันตุ ขอให้สิ่งร้ายจัญไรทั้งปวงจงหายไปจากท่าน
สัพพะโรโค วินัสสะตุ ขอให้โรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงจงหายไปจากท่าน
มาเต ภะวัตวันตะราโย ขอให้ภยันตรายทั้งปวงจงหายไปจากท่าน
สุขี ทีฆายุโก ภะวะ ขอให้ท่านมีความสุข และอายุยืนยาว
อะภิวาทะนะ สีลสสะ นิจจัง วุฑาฒาปะจายิโน ขอให้ท่านเคารพต่อผู้มีวัยวุฒิ อาวุโส และปฏิบัติตามศีล
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ขอให้ท่านเจริญด้วยพร ๔ ประการ คือ อายุยืน ผิวพรรณผ่องใส มีความสุขและสุขภาพแข็งแรง (บทสัพพีนี้ พระท่านจะสวด ๓ จบ)

นอกจากสวด ยถา-สัพพี ข้างต้นแล้ว ในการสวดอภิธรรมศพ พระท่านจะสวดบทอะทาสิ เม หรือติโรกุฑฑสูตร อันเป็นบทสวดเพื่อส่งบุญให้แก่ผู้เสียชีวิตด้วย และเมื่อจบการสวดยถา-สัพพีทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืออวมงคล จะลงท้ายด้วยบทที่เรียกว่า ภะวะตุสัพ อันมีเนื้อความและคำแปล ว่า

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ขอสรรพมงคล จงมีแก่ท่าน
รักขันตุ สัพพะเทวะตา ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
สัพพะพุทธานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพ แห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง
สะทา โสตถี ภะวันตุ เต ฯ ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ขอสรรพมงคล จงมีแก่ท่าน
รักขันตุ สัพพะเทวะตา ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
สัพพะธัมมานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพ แห่งพระธรรมทั้งปวง
สะทา โสตถี ภะวันตุ เต ฯ ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ขอสรรพมงคล จงมีแก่ท่าน
รักขันตุ สัพพะเทวะตา ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
สัพพะสังฆานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพ แห่งพระสงฆ์ทั้งปวง
สะทา โสตถี ภะวันตุ เต ฯ ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ความเป็นมาของการกรวดน้ำนี้ เล่ากันว่ามีมาแต่สมัยพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายเวฬุวนอุทยานแก่พระพุทธเจ้าเพื่อเป็นพระอาราม ในคืนนั้นปรากฎว่าพระองค์ได้ยินเสียงร้องประหลาดอันน่าสะพรึงกลัว วันต่อมาจึงได้ไปเข้าเฝ้าและเล่าเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้าฟัง พระพุทธองค์จึงทรงอธิบายว่า เสียงที่ได้ยินนั้น คือเสียงของพระญาติในอดีตอันไกลโพ้นของพระเจ้าพิมพิสารที่บังเกิดไปเป็นเปรต (เนื่องจากคนเหล่านี้เคยแอบกินอาหารพระก่อนพระฉัน และบางคนก็ลักลอบเอาไปให้ญาติคนอื่น) จึงมาร้องขอส่วนบุญ เพราะพระองค์ทำบุญแล้วไม่ได้อุทิศให้ ด้วยเหตุนี้รุ่งขึ้นอีกวัน พระเจ้าพิมพิสารจึงได้อาราธนาพระพุทธเจ้าไปรับทานอีกครั้ง

เมื่อเสร็จแล้วก็ได้อุทิศบุญดังกล่าวด้วยการหลั่งทักษิโณทก ทำให้ญาติของพระองค์ได้รับทั้งอาหารและผ้าทิพย์ จนมีร่างกายอิ่มเอิบและผิวพรรณผ่องใส จากเรื่องข้างต้น จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าเพียงแต่แนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับในอดีตชาติ แต่การหลั่งทักษิโณทกของพระเจ้าพิมพิสารได้กลายมาเป็นประเพณีของชาวพุทธในการกรวดน้ำหลังให้ทานนับแต่นั้นมา

ภาพ : ครู เหมเวชกร
พระเจ้าพิมพิสารทรงบำเพ็ญกุศลให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต
เปรตทั้งหลายต่างโมทนารับส่วนบุญ

คำว่า ทักษิโณทก มาจากภาษาสันสกฤต ทกฺษิณา แปลว่า ของทำบุญ ส่วนคำว่า อุทก แปลว่าน้ำ ใน ภาษาไทยเราใช้ใน ๓ ความหมาย ได้แก่

๑. น้ำที่หลั่งในเวลาทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย
๒. น้ำที่ใช้เทลงไปเพื่อแสดงว่า ให้ ใช้กับสิ่งของที่ใหญ่หรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกได้ เช่น วัด บุญกุศล
๓. น้ำที่หลั่งเพื่อแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด เช่น พระเวสสันดรหลั่งทักษิโณทกเพื่อยกกัณหาชาลีให้ชูชก

เมื่อเรากรวดน้ำแล้ว ส่วนใหญ่จะนำน้ำนั้นๆ ไปเทลงดินหรือตามต้นไม้ ซึ่งน่าจะมาจากพุทธประวัติที่เล่าถึงสมัยเจ้าชายสิทธัตถะก่อนจะสำเร็จสัมโพธิญาณหรือตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พญามารได้นำทัพมาขัดขวาง และกล่าวดูหมิ่นพระองค์ว่า เป็นมนุษย์ธรรมดา ไหนเลยจะมีบุญบารมีมากพอที่จะนั่งบนรัตนบัลลังก์ (อาสนะหรือที่นั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ อันเป็นสถานที่พระองค์ตรัสรู้และเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์แรก) พระองค์จึงละมือข้างหนึ่งจากท่านั่งสมาธิ ชี้ปลายนิ้วแตะพื้นที่นั่ง (อันเป็นท่าที่ต่อมาเรียกกันว่าปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร) แล้วเอ่ยอัญเชิญพระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยานถึงบุญบารมีที่พระองค์ได้บำเพ็ญสะสมมาแล้วหลายชาติภพ พระแม่ธรณีก็ได้มาปรากฎกาย แล้วบีบมวยผมให้น้ำที่พระพุทธองค์เคยกรวดน้ำในการทำบุญมาแล้วทุกชาติทุกภพหลั่งออกมา จนท่วมซัดเหล่าทัพพญามารแตกพ่ายไป

ด้วยเหตุนี้ คนจึงมักนำน้ำที่กรวดไปเทตรงดิน เสมือนให้พระแม่ธรณีเป็นพยานในการทำบุญเช่นเดียวกับพระพุทธองค์ ครั้นต่อมาที่นิยมไปเทตรงต้นไม้ ก็คงเพราะต้นไม้ขึ้นในดิน จึงถือว่ารดน้ำบำรุงต้นไม้ไปด้วย

พระพุทธเจ้าชนะมาร
ภาพ : อ.คำนวน ชานันโท พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้ได้ทรงผจญกับเหล่าพวกพญามารทั้งหลาย พระแม่ธรณีทรงแสดงปาฏิหาริย์ ปราบเหล่าพญามารโดยทรงบีบมวยผมให้น้ำไหลออกมาท่วม พวกพญามารทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไป

การกรวดน้ำ นั้น เขาบอกว่าสามารถทำได้ ๒ แบบ คือ จะใช้น้ำอย่างปกติที่ทำกันอยู่ ที่เรียกว่า กรวดน้ำเปียก หรือจะแค่ตั้งจิตอธิษฐานอุทิศกุศลให้กับผู้ล่วงลับโดยไม่ต้องใช้น้ำ ที่เรียกว่า กรวดน้ำแห้ง ก็ได้ ได้ผลเท่ากัน และหากจะใช้น้ำ ระหว่างเทน้ำลงภาชนะที่รองรับ ไม่จำเป็นต้องใช้นิ้วรองน้ำ ให้เทลงไปตรงๆ เลย เพื่อมิให้น้ำขาดสาย เหมือนให้บุญหลั่งไหลลงไปโดยไม่ขาดตอน และให้ประธานในงาน หรือผู้ที่เป็นตัวแทนหลั่งน้ำคนเดียวก็พอแล้ว ส่วนคนอื่นๆ ก็ตั้งใจอธิษฐานตาม ไม่ต้องเอานิ้วไปรองน้ำทุกคนหรือไม่ต้องแตะมือหรือร่างกายต่อๆ กัน

อันที่จริงบทกรวดน้ำที่ขึ้นต้นด้วย ยถา มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า อนุโมทนารัมภาคาถา ซึ่งหมายถึง คาถาที่พระสงฆ์จะเริ่มกล่าวนำก่อนจะอนุโมทนา ส่วนบทที่เริ่มด้วย สัพพี มีชื่อเรียกว่า บทสามัญญานุโมทนาคาถา อันหมายถึง คาถาที่สวดทุกครั้งที่อนุโมทนาในกุศลที่อุบาสกอุบาสิกาได้ทำแล้ว (อนุโมทนากถา เป็นบทสวดที่พระสงฆ์สวดเพื่อประสงค์ให้ผู้ถวายทานเกิดความยินดีในทานหรือเพื่อแสดงธรรมแก่ผู้ถวาย)

นอกจากบทกรวดน้ำ ยถา-สัพพีที่เราได้ยินได้ฟังพระสงฆ์เป็นผู้สวดหลังทำบุญต่างๆ แล้ว ยังมีบทกรวดน้ำที่ผู้ทำบุญเป็นผู้สวดเองอีกด้วย ซึ่งจะมีทั้งแบบย่อ ที่ว่า “อิทังเม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย แปลว่า ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุขเถิดฯ” ส่วนบทเต็มๆ จะขึ้นด้วย “อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา……….มาโรกาสัง ละภันตุ มาฯ” ซึ่งจะเป็นการสวดอุทิศให้แก่บุพการี และคนที่มีอุปการะทั้งหลาย เช่น อุปัชฌาย์ อาจารย์ รวมไปถึงเทพเทวาต่างๆ

ทั้งหมดข้างต้น หวังว่าจะทำให้ท่านได้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวยิ่งขึ้น และมีความอิ่มเอมใจเพิ่มขึ้นในการ “กรวดน้ำ” ครั้งต่อไป

เล่าสู่กันฟัง…เรื่อง “กรวดน้ำ” อย่างเข้าใจและรู้ความหมาย

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร