“สังคหวัตถุ 4” หลักธรรมแห่งการเกื้อกูล เกิดความสามัคคีในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

7768
views

การที่เรามาอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นต้องปฏิบัติตนอย่างไร จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทรงได้ให้หลักธรรมในการดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเป็นสุขคือ สังคหวัตถุ 4

ผลงาน อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

สังคหวัตถุ 4 : สังคหวัตถุ แปลว่า ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์กัน, ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน หมายถึง หลักการครองใจคน, หลักยึดเหนี่ยวใจกันไว้, วิธีทำให้คนรัก, หลักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นเครื่องประสานใจและเหนี่ยวรั้งใจคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ และทำให้อยู่กันด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกัน เหมือนลิ่มสลักรถที่ตรึงตัวรถไว้มิให้ชิ้นส่วนกระจายไป ทำให้รถแล่นไปได้ตามที่ต้องการ

สังคหวัตถุมี 4 ประการ คือ

1.ทาน หมายถึง การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่

-1. อามิสทาน คือ การให้สิ่งของ หรือเงินทอง
-2. ธรรมทาน คือ การให้ความรู้ สอนธรรมะ และ
-3. อภัยทาน คือ การให้อภัย ไม่จองเวร

2.ปิยวาจา หมายถึง การพูดจาไพเราะ สุภาพ จริงใจ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดให้เกิดความเข้าใจอันดี ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์
ดังต่อไปนี้

เว้นจากการพูดเท็จ
เว้นจากการพูดส่อเสียด
เว้นจากการพูดคำหยาบ
เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร