มงคลสูตร 38 ประการ มงคลธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ แก่ตนเองและครอบครัว

264
views

มงคล ๓๘ ประการ มงคลสูตร ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อธิบายความโดยพิสดารถึงสาเหตุของการที่พระพุทธเจ้าตรัสมงคลสูตรไว้ว่า ประมาณ 12 ปีก่อนพุทธกาล ประชาชนต่างตื่นตัวว่า อะไรคือเหตุที่ทำให้ชีวิตเป็นมงคล กล่าวว่า บ้างก็ว่า วัตถุสิ่งของ เช่น ต้นไม้ สัตว์ หรือว่ารูปเคารพต่าง ๆ จะทำให้ชีวิตเป็นมงคล

เหล่าเทวดาทูลถาม ท้าวสักกเทวราช “อะไรคือมงคล”

เรื่องราวการอภิปรายเรื่องมงคล ก็ไปถึงภุมเทวา คือเทวดาในระดับพื้นดิน เทวดาก็สนทนากันว่าอะไรคือมงคล ประเด็นนี้ก็ลุกลามไปถึงอากาศเทวา ไปถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จนถึงพรหมโลกชั้นสุธาวาส ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ของผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว มีความเข้าใจในเรื่องมงคลชีวิตเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถอธิบายได้ จึงได้ประกาศให้เทวดาทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาตรัสรู้ธรรมในอีก 12 ปี ให้ไปถามพระพุทธองค์ในตอนนั้น

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คืนหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า และบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคลสูตร ซึ่งมีทั้งหมด 10 หมวด นับเป็นรายการได้ 38 ประการ*

(ผู้ทรงความรู้บางท่านที่จำแนกโดยการแปลจากภาษาบาลี นับได้ 37 ประการ เพราะ “การสงเคราะห์บุตรและคู่ครอง” เป็นสองข้อที่อยู่ในวลีเดียว).

ท้าวสักกเทวราชนำหมู่เทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหารอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้เมืองสาวัตถี ทรงแสดง มงคล ๓๘ ประการ

ตามเนื้อหาในพระสูตร มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยึดถือวัตถุ แต่ยึดถือการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง ซึ่งมีอยู่ 38 ประการ ทั้งหมดจำแนกอยู่ในเนื้อหาโดยแบ่งเป็น ๑๐ หมวด ได้แก่

หมวดที่ ๑

๑ ไม่คบคนพาล : ไม่คบผู้ที่ชักจูงไปในทางที่ผิด และโง่เขลาเบาปัญญา เพราะมีแต่จะทำให้ชีวิตเสื่อม
๒ คบบัณฑิต : คบผู้มีความรู้ ความคิดที่ดี การปฏิบัติตนที่ดี เพื่อจะได้รับการชี้แนะแต่เรื่องอันเป็นมงคล
๓ บูชาคนที่ควรบูชา : การเชิดชูผู้ประพฤติดี และผู้มีพระคุณ เป็นการลดทิฐิของตนเอง ไม่สักการบูชาในสิ่งที่ไม่เป็นมงคล

หมวดที่ ๒

๔ อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม : พาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี แวดล้อมไปด้วยบัณฑิตทั้งทางโลก และทางธรรม
๕ มีบุญวาสนามาก่อน : ฝึกชำระล้างจิตใจ สั่งสมอานิสงส์ ความดี ความสุข ทุกการกระทำส่งผลต่อปัจจุบันและอนาคต
๖ ตั้งตนชอบ : วางตนอย่างเหมาะสมในการดำรงชีพ และประกอบสัมมาอาชีพ

หมวดที่ ๓

๗ เป็นพหูสูต : เป็นผู้ที่สดับรับฟังมาก จึงมีความรู้ มีปัญญา ในการคิดแก้ปัญหาต่างๆ อย่างถูกวิธี
๘ มีศิลปะ : มีความรู้ในการใช้มือปฏิบัติการงานต่างๆ สามารถประกอบวิชาชีพได้ ชีวิตไม่อับจน
๙ มีวินัย : ปฏิบัติตนตามระเบียบ และกฎเกณฑ์ของสังคม ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
๑๐ มีวาจาสุภาษิต : พูดดี ไม่เหลวไหล เปล่งวาจาอันเป็นมงคล ทั้งทางโลกและทางธรรม

หมวดที่ ๔

๑๑ บำรุงมารดาบิดา : เลี้ยงดูบิดา มารดา กล่าวยกย่องสรรเสริญผู้มีพระคุณ เป็นมงคลชีวิตที่ทำให้เจริญก้าวหน้า
๑๒ เลี้ยงดูบุตร : เลี้ยงดูบุตรให้ได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดี ได้รับการศึกษา บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม
๑๓ สงเคราะห์ภรรยา(สามี) : เลี้ยงดูภรรยา(สามี)ให้ดี กล่าวยกย่อง ไม่ดูหมิ่น สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว
๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง : ทำงานทั้งทางโลก และทางธรรมให้สำเร็จสมบูรณ์ ไม่เห็นแก่ตัว และประโยชน์ส่วนตน

หมวดที่ ๕

๑๕ บำเพ็ญทาน : ฝึกจิตให้เป็นผู้มีความเสียสละ ลดความเห็นแก่ตัว ไม่ทุจริตในสิ่งของที่ไม่ชอบธรรม
๑๖ ประพฤติธรรม : ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ยกระดับจิตใจให้สูงด้วยศีล และธรรม
๑๗ สงเคราะห์ญาติะ : ให้ความช่วยเหลือญาติพี่น้องตามกำลัง สงเคราะห์ญาติเมื่อเดือดร้อน
๑๘ ทำงานไม่มีโทษ : ทำงานหาเลี้ยงตน โดยต้องเป็นงานที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี และศีลธรรมอันดี

หมวดที่ ๖

๑๙ งดเว้นจากบาป : บาปคือสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นมงคล ทำแล้วรู้สึกไม่สบายใจ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
๒๐ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา : ดื่มของมึนเมาแล้วไม่สามารถควบคุมตนได้ ย่อมนำมาซึ่งการเสียทรัพย์ เสียสติสัมปชัญญะ
๒๑ ไม่ประมาทในธรรม : เป็นผู้มีสติพร้อม ไม่ประมาท ไม่หุนหันพลันแล่น ปฏิบัติตนในทางที่ดี

หมวดที่ ๗

๒๒ มีความเคารพ : ให้ความเคารพในบุคคลที่ควรแก่การเคารพ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ผู้คนจะสรรเสริญ
๒๓ มีความถ่อมตน : มีมารยาท สงบเสงี่ยม ไม่หยิ่งผยองตน จะทำให้ไม่เสียคน และไม่เสียมิตร
๒๔ มีความสันโดษ : พึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมี ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ยินดีตามกำลังทรัพย์ของตน
๒๕ มีความกตัญญู : เป็นผู้รู้คุณ รู้จักตอบแทนบุญคุณผู้ที่มีพระคุณ และมีผู้ที่เมตตาในยามเดือดร้อน
๒๖ ฟังธรรมตามกาล : เมื่อมีโอกาสให้ฟังธรรมะ คิดทบทวนถึงประโยชน์แห่งหลักธรรม แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

หมวดที่ ๘

๒๗ มีความอดทน : เป็นผู้มีความอดทนต่อความยากลำบาก และอดทนต่อกิเลส และความโลภ
๒๘ เป็นผู้ว่าง่าย : เป็นคนที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ทำตัวกลบเกลื่อนความผิดของตน พร้อมปรับปรุงตัว
๒๙ เห็นสมณะ : สำหรับผู้ที่อยู่ในสมณเพศ ต้องเป็นผู้ที่สงบกาย วาจา และใจ
๓๗ สนทนาธรรมตามกาล : แลกเปลี่ยนสาระความรู้กับผู้อื่น พูดด้วยวาจาที่ไม่โอ้อวด และมีความรู้จริงในสิ่งที่พูด

หมวดที่ ๙

๓๑ บำเพ็ญตบะ : ฝึกปฏิบัติตนให้กิเลสหมดไป สำรวมกายใจ ไม่ยึดติดในสัมผัสภายในนอกเกินไป
๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ : ผู้บวชให้ละเว้นจากการเสพเมถุน ส่วนฆราวาสให้ยึดปฏิบัติโดยการให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่นตามสมควร และรักษาศีล
๓๓ เห็นอริยสัจจ์ : เห็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ อริยสัจ 4 อันเป็นมูลเหตุแห่งการเกิดทุกข์ และวิธีทำให้ทุกข์หมดไป
๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง : ปฏิบัติตน ใช้หลักธรรมดับทุกข์ และความไม่สบายใจ ระลึกถึงคุณแห่งพระนิพพาน

หมวดที่ ๑๐

๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม : ฝึกจิตใจตนให้ไม่หลงในลาภ ยศ และการสรรเสริญเยินยอ
๓๖ จิตไม่โศก : การพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ใช้ปัญญาพิจารณาความเศร้า และความอาลัยอาวรณ์
๓๗ จิตปราศจากกิเลส : ฝึกปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากกิเลส และสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง
๓๘ จิตเกษม : รักษาไว้ซึ่งสภาพที่มีจิตใจเป็นสุข ละแล้วซึ่งกิเลส ไม่ยินดีในวัตถุ ในภพ ในอวิชชาทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรมไว้ชัดเจนดีแล้ว ก็มีผู้ที่เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง จึงได้ส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้ แนวทางการยึดถือความเป็นมงคล จึงมีอยู่ 2 แนวทาง คือ

❶ มงคลจากการมีสิ่งนั้นมีสิ่งนี้
❷ มงคลจากการฝึกตัว

ข้อมูลต้นฉบับ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร