วัดเขาอ้อ ตักศิลามหาเวทย์ ต้นกำเนิดสรรพวิชาไสยศาสตร์ที่โด่งดังไปทั่วทิศ

340
views

“สำนักเขาอ้อ”  วัดเขาอ้อ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นแหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่สมัยโบราณ พระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป เช่น พระอาจารย์ทองเฒ่าหรือพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ พระอาจารย์ศรีเงิน วัดดอนศาลา พระครูพิพัฒน์สิริธร (อาจารย์คง) วัดบ้านสวน พระอาจารย์ปาน ปาลธัมโม วัดเขาอ้อ พระอาจารย์นำ แห่งวัดดอนศาลาศิษย์ฆราวาส และที่เป็นฆราวาสที่คนทั่วไปรู้จักกันดีได้แก่ พลตำรวจตรีขุนพันธ์รักษ์ราชเดช อาจารย์ชุม ไชยคีรี อาจารย์ฉันทิพย์ พันธรักษ์ราชเดช อาจารย์เปลี่ยน หัทยานนท์ อาจารย์ประจวบ คงเหลือ ฯลฯ ล้วนเป็นศิษย์สำนักพุทธาคมเขาอ้อที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือทั้งสิ้น

วัดเขาอ้อ ตักศิลามหาเวทย์ ณ ดินแดนใต้ ภาพ – phatlung.com

วัดเขาอ้อหรือสำนักเขาอ้อมีลักษณะคล้ายสำนักทิศาปาโมกข์ของพราหมณ์ หรือฤษีผู้ทรงคุณวิชาที่ถ่ายทอดนอกจากวิชาการปกครองตามตำราธรรมศาสตร์แล้ว พราหมณ์ผู้ทรงคุณวุฒิได้ถ่ายทอดเรื่องพิธีกรรมฤกษ์ยามการจัดทัพตามตำราพิชัยสงครามตลอดจนไสยเวทย์ และการแพทย์

เขาอ้อเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ มีต้นอ้อขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นที่มาของชื่อเขาอ้อ เขาอ้อเคยเป็นถิ่นที่พำนักของพราหมณ์ เดิมเขาอ้อไม่ใช่วัด แต่เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพราหมณ์ และดาบส เป็นที่เร้นกายของผู้ทรงศีล เมืองพัทลุงในอดีตเรียกว่าเมือง สทิงปุระตั้งอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ สทิงปุระ ในอดีตเป็นเมืองท่าสำคัญของอาณาจักรศรีวิชัย พราหมณ์จึงเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนา

สทิงปุระในอดีตมีพราหมณ์อยู่จำนวนมากต่อมาพราหมณ์และฤาษีคณะหนึ่งได้หลีกเร้นไปบำเพ็ญเพียรที่เขาอ้อ และตั้งสำนักเผยแพร่ความรู้ที่เขาอ้อ จนมีผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนไสยเวทย์จำนวนมาก

สำนักเขาอ้อ ในอดีตไม่ได้สอนแต่ไสยเวทย์อาคม แต่สอนทั้งอักขรวิธี ความรู้ด้านการปกครอง การรบ การจัดทัพ การแพทย์จนถึงไสยเวทย์ เดิมวิชาของเขาอ้อ มีอาจารย์ใหญ่ 2 ท่าน เป็นผู้บอกวิชา การสืบทอดวิชาโดยพราหมณ์สืบต่อกันมาหลายร้อยปีจนถึงพราหมณ์รุ่นสุดท้าย ท่านพราหมณ์เห็นว่าเมื่อสิ้นท่านแล้ว สำนักเขาอ้อและถ้ำฉัททันต์บรรพตซึ่งเป็นที่รักษาร่างครูอาจารย์มาแต่อดีตไม่ควรปล่อยให้ทิ้งร้าง เมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธแผ่ปกคลุมอาณาสทิงปุระ จึงเห็นควรฝากสำนักสืบทอดให้กับผู้ที่อยู่ในพระพุทธศาสนา จึงเลือกเชิญพระอาจารย์ทองมาอยู่ที่เขาอ้อโดยมอบคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และถ่ายทอดวิชาให้สำนักเขาอ้อจึงเป็นพุทธสถานมาแต่นั้น เขาอ้อมีบทบาทสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยเป็นสถานที่สั่งสอนสรรพวิชาให้ผู้คน เขาอ้อได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์และสืบทอดสนับสนุนมาอย่างยาวนาน

การถ่ายทอดวิชาของสำนักเขาอ้อจะดูจากลักษณะนิสัยของผู้เรียนว่าเหมาะจะรับการถ่ายทอดวิชาแบบไหน จะรับวิชาได้หรือไม่ ศิษย์เขาอ้อแต่ละคนจึงได้วิชาแตกต่างกันตามลักษณะนิสัย

เขาอ้อ มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คือ ถ้ำฉัททันต์บรรพต ที่เป็นทั้งเทวสถาน และพุทธสถาน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้เก็บร่างของพราหมณ์โบราณาจารย์ และพระสงฆ์ผู้ทรงพุทธาคมกล้า เป็นเจ้าสำนัก นับแต่พระอาจารย์ทอง ปฐมเจ้าอาวาส วัดเขาอ้อสืบทอดโดยเจ้าสำนักที่มีชื่อว่า “ทอง”ตลอดมาจนถึงท่านอาจารย์ปาน

พระอาจารย์ทอง
พระอาจารย์สมเด็จเจ้าจอมทอง
พระอาจารย์พรหมทอง
พระอาจารย์ชัยทอง
พระอาจารย์ทองจันทร์
พระอาจารย์ทองในถ้ำ
พระอาจารย์ทองหน้าถ้ำ
พระอาจารย์ทองหูยาน
พระอาจารย์ทองเฒ่า
พระอาจารย์ปาน ปาลธัมโม ฯลฯ

พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์

พิธีกรรม สำคัญ และศักดิ์สิทธิ์ ของเขาอ้อที่ศิษย์และผู้ศรัทธาจะพลาดไม่ได้คือ พิธีบวงสรวงบูรพาจารย์ พิธีกรรมลงรางแช่ว่านพิธีหุงข้าวเหนียวดำ พิธีกินข้าวเหนียวดำ และพิธีเสริมดวงชะตา

ในตอนนี้ขอกล่าวถึงพิธีหุงข้าวเหนียวดำ และ พิธีลงรางแช่ว่าน พิธีหุงข้าวเหนียวดำ ทำกันปีละ 2 ครั้ง คือขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 และ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 เป็นการเอาเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านไม่ต่ำกว่า 108 ชนิด นำมาผสมแล้วต้มเอาน้ำยามาใช้หุงข้าวเหนียวดำ

พิธีกรรมจะทำแบบโบราณคือ เริ่มปลุกเสกตั้งแต่จุดไฟ จนข้าวเหนียวในหม้อสุก นำข้าวเหนียวที่สุกแล้วไปประกอบพิธีอีกครั้งก่อนกินข้าวเหนียวดำ ถ้าศิษย์คนใดไม่บริสุทธิ์ต้องทำพิธีสะเดาะเรียกว่าพิธีเกิดใหม่หรือพิธีบริสุทธิ์ตัว เมื่อถึงเวลากินข้าวเหนียวดำ ต้องเปลี่ยนมาใส่ผ้าขาวม้าโจงกระเบนไม่ใส่เสื้อ เข้าไปกราบอาจารย์ สามครั้ง แล้วให้นั่งชันเข่าบนหนังเสือ เท้าทั้งสองเหยียบเหล็กกล้า หรือเหล็กเพชร ปิดศีรษะด้วยหนังหมี มือทั้งสองวางบนหลังเท้าตัวเอง อาจารย์ใช้มือซ้ายกดมือไว้พร้อมภาวนาพระคาถา ส่วนมือขวาปั้นข้าวเหนียวดำเป็นก้อนๆ ป้อนให้ศิษย์ครั้งละก้อน แล้วปล่อยมือศิษย์ที่กดไว้บนหลังเท้ามือทั้งสองของศิษย์จะลูบขึ้นไปตั้งแต่หลังเท้า จนทั่วตัวจดใบหน้า

การลูบนี้เรียกว่า การปลุก แล้วลูบลงเอามือทั้งสองข้างไปวางที่หลังเท้าดังเดิม โดยกะประมาณว่ากินข้าวเหนียวก้อนแรกหมดพอดี ข้าวเหนียวมีรสขม ต้องกินก้อนแรกให้หมดจนครบสามก้อนแล้วอาจารย์ใช้มือซ้ายกดมือทั้งสองไว้ที่เดิมหัวแม่มือขวากดสะดือศิษย์ทำทักษิณาวัตร 3 รอบพร้อมภาวนาคาถาไปด้วย เป็นการผูกอาคม

พิธีแช่ว่านยา เดิมพิธีทำขึ้นเพื่อให้ศิษย์ออกไปรบ ไปเป็นทหาร ไปทำสงคราม จุดมุ่งหมายเพื่อให้ร่างกายคงกระพันความจริงการอาบว่านแช่ยายังช่วยในการถอดเสนียดจัญไรแก้โรค และเป็นมหาอำนาจด้วย การอาบว่านแช่ยาจะต้องหาเครื่องยาสมุนไพรและว่านมาให้ครบตามตำรา ที่มีว่านยาและสมุนไพรหลายสิบชนิดโดยมี “บอระเพ็ด” และ “ขิงชาลี” พญาสัตบันโคกกระสุน มหานิล ขมิ้นเหลือง มหากาฬ มหาปราบ สากเหล็ก เพชรหึง นิลพัตร หอกหัก ไพลดำ กระชายดำ เพชรน้อยหนุมานประสานกาย สบู่เลือด มหาเมฆ ฯลฯ แบ่งว่านออกเป็น 2 สาย “ว่านดิบ” กับ “ว่านสุก” ว่านดิบเอามาทุบ แล้วเอาแช่ในรางได้เลย ส่วนว่านสุกเป็นว่านที่ต้องเอามาต้มก่อน เพื่อให้ได้น้ำว่านแล้วเอาน้ำว่านนั้นเทใส่ลงในรางยารวมกับว่านดิบ

การกระทำต้องทำตามฤกษ์ที่เป็นมงคลเริ่มทำพิธีบูชาครูและจัดปริมณฑลพิธีรอบๆรางแช่ว่านเสร็จพิธีพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์แล้ว อาจารย์ผู้เป็นศิษย์สำนักเขาอ้อก็จะทำการปลุกเสกรางแช่ว่าน เมื่อถึงขั้นตอนแช่ว่านผู้ที่จะทำการแช่ว่านก็จะต้องสมาทานศีลเสียก่อน ทุกคนจะนุ่งผ้าขาวม้าหรือกางเกงขาสั้นไม่สวมเสื้อก่อนที่จะลงแช่ว่านในราง เท้าจะยืนบนหนังเสือและเหล็กกล้ามีหนังหมีปิดศีรษะ จากนั้นอาจารย์ก็จะเป็นผู้จูงลงในรางแช่ว่าน

โดยอาจารย์และผู้แช่ว่านจะต้องบริกรรมคาถาขณะที่กำลังเดินลงในรางแช่ว่าน เมื่อลงไปในรางแช่ว่านที่มีน้ำว่านอยู่เกือบเต็มรางแล้วก็จะนอนลงโดยยกเฉพาะศีรษะให้อยู่เหนือน้ำ ต้องระวังอย่าให้น้ำว่านเข้าหูเพราะอาจจะทำให้หูหนวกได้ เนื่องจากฤทธิ์ของน้ำว่านแรง การแช่ว่านนี้จะแช่ได้นานได้นานเท่าจะยิ่งดีเพราะจะทำให้น้ำว่านเข้าสู่ร่างกายได้มาก เมื่อแช่เสร็จแล้วอาจารย์ก็จะเป็นผู้จูงคนแช่ว่านขึ้นมาจากรางขณะนั้นก็ต้องบริกรรมคาถาเหมือนกับตอนลงแช่ในตอนแรกเหมือนกัน เมื่อขึ้นมาจากรางแช่น้ำว่านแล้วอาจารย์ก็จะให้คนแช่ว่านทุกคนทำพิธีบูชาครูแล้วก็อบรมสั่งสอนให้อยู่ในศีลธรรม ก็เป็นอันว่าเสร็จพิธีแช่ว่านตามสูตรของสำนักเขาอ้ออันศักดิ์สิทธิ์ที่มีการยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ข้อมูลต้นฉบับ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร