“ถ้ำภูผาเพชร” ถ้ำขนาดใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลก ถ้ำหินงอกหินย้อยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ภายในถ้ำกว่า 50 ไร่ ธรรมชาติได้รังสรรค์ความงามไว้อย่างน่าอัศจรรย์มีเพดานถ้ำสูงโปร่ง มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ซึ่งมีอายุมากกว่าร้อยล้านปีจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2541 นักโบราณคดีได้เข้าสำรวจบริเวณถ้ำตามคำเล่าของพระธุดงด์นามว่า”หลวงตาแผลง” ผู้ค้นพบถ้ำแห่งนี้
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตั้งอยู่บนเทือกเขาบรรทัดวางตัวแนวเหนือ – ใต้ แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งตะวันออก อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสงขลา ฝั่งตะวันตกอยู่ในเขตจังหวัดตรังและสตูล เป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 100 – 1,350 เมตร มีทรัพยากรป่าไม้เป็นป่าดิบชื้น และป่าเขาหินปูน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด มีแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญระดับโลก คือ ถ้ำภูผาเพชร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ ตั้งอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร จ.สตูล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด มีเนื้อที่ภายในถ้ำกว่า 50 ไร่ เพดานถ้ำมีลักษณะสูงโปร่ง ภายในเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยหลากหลายรูปทรงซึ่งมีความงดงามเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อยามแสงไฟกระทบกับหยดน้ำที่เกาะบนหินก็จะเกิดประกายวาวแววสวยงามราวกับเพชร นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ “ถ้ำภูผาเพชร”
จากการสำรวจถ้ำภูผาเพชร พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นกระดูกมนุษย์ยุคโบราณส่วนกะโหลกศีรษะ เศษภาชนะดินเผาเคลือบลายเชือกทาบ ที่ก้นภาชนะมีเปลือกหอยยึดเกาะ และหลักฐานทางโบราณคดีอีกมากมาย ต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียง
โดยถ้ำภูผาเพชร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ถือเป็นถ้ำหินงอกหินย้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังมีขนาดใหญ่ติดอันดับ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย (Satun UNESCO Global Geopark) ประกาศโดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกกันแพร่หลายว่า ยูเนสโก
ภายในถ้ำจัดสรรแบ่งเป็นห้องต่างๆ 20 ห้อง มีไฟส่องสว่างตามทางเดิน มีการตั้งชื่อแต่ละห้องตามธรณีสัณฐานที่พบเห็นเช่น ห้องม่านเพชร มีลักษณะคล้ายผ้าม่านแขวนเป็นหลืบซ้อนกัน ห้องพญานาค มีหินงอกต่อตัวกันคล้ายงูใหญ่หรือพญานาค
ส่วนประเภทของหินงอกก็จะมีชื่อต่างๆ ตามรูปทรงที่พบเห็นมีมากถึง 31 แห่ง เช่น ดอกเห็ด ซุ้มประตู หัวแหวนเพชร สายน้ำเพชร หัวพญานาค เศียรพระ
ที่ตั้ง : บ้านป่าพน ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
ที่มา : หนังสือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประเทศไทย, เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาบรรทัด, ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, จังหวัดสตูล