เรื่องไม่ลับฉบับนักวิจัย…รู้จักกล้วยไม้ป่า “เอื้องน้ำเต้า” ความสวยงามที่ควรอยู่คู่ป่าเท่านั้น
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอแนะนำให้รู้จักกับกล้วยไม้ป่าอีกชนิดหนึ่งนั่นคือ เอื้องน้ำเต้า Calanthe rubens Ridl.
โดยกล้วยไม้ชนิดนี้สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติเขานัน จ.นครศรีธรรมราช ความสูงจากระดับน้ำทะเล 300 – 1,800 เมตร เป็นกล้วยไม้ดิน เจริญทางข้าง ลำลูกกล้วยมี 2–3 ปล้อง ปล้องล่างคอดเข้า คล้ายผลน้ำเต้า ลำลูกกล้วย กว้าง 3–4 เซนติเมตร ยาว 7–8 เซนติเมตร ใบ รูปใบหอก กว้างได้ถึง 15 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร พับจีบ ทิ้งใบช่วงหน้าแล้งพร้อมออกดอก ช่อดอก แบบช่อกระจะ ออกที่โคนลำลูกกล้วย ช่อดอกตั้งขึ้น ปลายช่อโค้ง มีขนสีขาวปกคลุม ยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร มีหลายดอก
ดอก กว้าง 3.5–4 เซนติเมตร ยาว 3.5 เซนติเมตร ดอกสีชมพูอ่อนจนถึงชมพูเข้ม กลางกลีบปากอาจมีหรือไม่มีแถบสีม่วง กลีบเลี้ยง บน รูปรีปลายเป็นติ่งแหลม กว้าง 0.8 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร กลีบปาก กว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 1.6 เซนติเมตร หูกลีบปาก มีขนาดใหญ่กว่าปลายกลีบปาก รูปครึ่งวงกลมบานแผ่ออก ปลายกลีบปากรูปพัด ตรงกลางหยักลึก โคนของกลีบปากเชื่อมกับเส้า เกสรเป็นหลอด กลีบมีเดือยยาวคล้ายหางหนู ฝาครอบกลุ่มอับเรณูสีออกขาว กลุ่มอับเรณูสีเหลือง พบในป่าดิบชื้นที่ร่มแสงแดดรำไร ช่วงเวลาในการออกดอก ตุลาคม – พฤศจิกายน
#สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่4สุราษฎร์ธานี
ขอบคุณข้อมูล : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช