โรคไข้มาลาเรีย โรคร้ายที่มาจากยุงก้นปล่องที่ชอบกัดคนในเวลาพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่

1925
views

โรคไข้มาลาเรีย โรคติดต่อประจำถิ่นที่มียุงก้นปล่องที่ชอบกัดคนเวลาพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่ ไข้มาลาเรีย เรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการหรือฤดูกาลเกิดโรค เช่น

  • ไข้จับสั่น (เนื่องจากเมื่อเป็นไข้ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่นเป็นพักๆ)
  • ไข้ป่า ไข้ดง (เนื่องจากชาวบ้านไปเข้าป่าแล้วกลับออกมาเป็นไข้)
  • ไข้ร้อนเย็น (เนื่องจากมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ)
  • ไข้ดอกสัก (เนื่องจากผู้ป่วยมักเป็นไข้ในช่วงฤดูที่ดอกสักบาน)
  • ไข้ป้าง (เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีอาการม้ามโต)

ยุงก้นปล่อง

โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) เป็นโรคติดต่อประจำถิ่นที่มียุงก้นปล่องบางชนิดเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อาศัยในเลือด มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกัน คือระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์จำพวกยุง

ยุงก้นปล่อง มีปากคล้ายงวงยื่นยาวออกไปข้างหน้า มักยกส่วนท้องขึ้นสูงเป็นปล่องอย่างเห็นได้ชัดในขณะดูดเลือด ยุงก้นปล่องอาศัยได้หลายที่ เช่น บ้านเรือน ป่า ภูเขา จึงพบมากในชนบทที่อยู่แถวชายป่า ชอบวางไข่ในแหล่งน้ำใสไหลริน แอ่งน้ำสะอาด ธารน้ำไหล หรือน้ำตก ยุงชนิดนี้ชอบกัดคนในเวลาพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่

สำหรับประเทศไทยมีเชื้อมาลาเรียในคนทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่

  1. Plasmodium falciparum (Pf)
  2. Plasmodium vivax (Pv)
  3. Plasmodium malariae (Pm)
  4. Plasmodium ovale (Po)
  5. Plasmodium knowlesi (Pk)

สาเหตุหลักคือถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น จากแม่ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรียสู่ลูกในครรภ์ การถ่ายโลหิต เป็นต้น  เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10 – 12 วัน เมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นต่อก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรียต่อไป

อาการโดยทั่วไป เริ่มแรกของไข้มาลาเรียจะเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10 -14 วัน โดยจะจับไข้ไม่เป็นเวลา ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารได้ หลังจากนั้นจะจับไข้เป็นเวลา มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและเหนื่อย

สำหรับการตรวจรักษา เมื่อสงสัยเป็นไช้มาลาเรียให้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล หรือมาลาเรียคลินิกใกล้บ้าน ซึ่งมีขั้นตอนคือการเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยา โดยการกินยาต้องกินให้ครบตามแพทย์สั่ง และต้องมาตรวจเลือดซ้ำตามแพทย์นัด

การป้องกันโรคไข้มาลาเรีย เนื่องจากไม่มีวัคซีนและไม่มียากินเพื่อป้องกันการเกิดโรค ดังนั้นหากต้องเข้าป่าหรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเองดังนี้

  1. สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด
  2. ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง
  3. นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืน
  4. ใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปลเวลาต้องไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา

ความชุกชุมของโรค ส่วนมากบริเวณที่เป็นป่าเขาและมีแหล่งน้ำ ปัจจุบันเป็นโรคประจำถื่นที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

 

ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร