23 กันยายน 66 “วันศารทวิษุวัต” กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน

1420
views
วันศารทวิษุวัต

ชวนรู้จัก “วันศารทวิษุวัต” (Autumnal Equinox) ซึ่งตรงกับวันที่ 23 ก.ย. 66 โดยวันดังกล่าวช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน นับเป็นวันเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้ และเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วง ปลายฝนต้นหนาว

วันศารทวิษุวัต

23 กันยายน 2566 “วันศารทวิษุวัต” (Autumnal Equinox) ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน นับเป็นวันเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

“ศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน คำว่า Equinox (อิ-ควิ-นอกซ์) มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ aequus แปลว่า เท่ากัน และ nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้นจึงแปลรวมกันว่า “กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน” ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า จุดราตรีเสมอภาค จะเกิดขึ้นเพียงปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ ในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า Vernal Equinox (วสันตวิษุวัต) และในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า Autumnal Equinox (ศารทวิษุวัต)

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06:07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:17 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

วันศารทวิษุวัต

การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย และด้วยเหตุนี้ ทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้นบนโลก

สำหรับปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ คือ “วันเหมายัน” (Winter Solstice) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม 2566 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด และกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้จะมีช่วงกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

ขอบคุณข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร