จ.อุทัยธานี – สุดประทับใจกับภาพของฝูงวัวแดง หรือ วัวเพลาะ (Banteng) 7 ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งผืนป่าห้วยขาแข้งมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้แก่ เสือโคร่ง สมเสร็จ ควายป่า วัวแดง กระทิง ช้างป่า และเสือดำ เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าห้วยขาแข้ง เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้ง 7 ชนิดมีความต้องการเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร หรือถิ่นที่อยู่อาศัย
วัวแดง หรือ วัวเพลาะ (Banteng) เป็นสัตว์ป่าที่เราน่าจะคุ้นเคยกันบ้าง แต่ก็ยังมีความสับสนในเรื่องการแยกแยะ ‘วัวแดง’ กับ ‘กระทิง’ ออกจากกัน แต่แท้จริงแล้ว วัวแดง เป็นสัตว์ในวงศ์วัวและควายเช่นเดียวกับกระทิง … เท้ากีบเหมือนกัน เขาไม่แตกกิ่งเหมือนกัน กินพืชเหมือนกัน เคี้ยวเอื้องเหมือนกัน ส่วนรูปร่างก็ยังคล้ายคลึงกัน แถมใส่ถุงเท้าขาวเหมือนกันอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดีจะพบว่า วัวแดง มีขนาดตัวเล็กกว่ากระทิงเพียงเล็กน้อย การสังเกตด้วยลักษณะภายนอกจึงเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ แนะนำให้ดูที่ก้น หรือบั้นท้าย ถ้าลองเดินวน ๆ ไปดูข้างหลัง…วัวแดง จะมีวงสีข้าวที่ก้นทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งจุดนี้กระทิงไม่มี
วัวแดง ชอบหากินอยู่เป็นฝูง ไม่ใหญ่นัก ราว 10–15 ตัว กลางวันนอนหลบตามพุ่มไม้ทึบ ชอบอยู่ตามป่าโปร่งหรือป่าทุ่ง ชอบกินดินโป่งไม่ชอบนอนแช่ปลัก รักสงบ ปกติไม่ดุร้ายเหมือนกระทิง หากินโดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปีเศษ ระยะตั้งท้องนาน 8–10 เดือน ปกติออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกหย่านมเมื่อมีอายุราว 9 เดือน หลังคลอดลูกราว 6–9 เดือน แม่วัวแดงจะเป็นสัดและรับการผสมพันธุ์อีก มีอายุยืนประมาณ 30 ปี และวัวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
ข้อมูล : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพ : นายสุทธิพร คล่ำเงิน พนักงานพิทักษ์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด