๑๐ ความเชื่อของชาวโนรา

10292
views

๑๐ ความเชื่อของชาวโนรา…ความเชื่อมีความหมายอยู่หลายความหมาย ซึ่งนักวิชาการและผู้รู้ได้ให้ความหมายของ ความเชื่อไว้ในแง่มุมต่าง ๆ ว่า ความเชื่อ คือ การยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริงหรือเป็นสิ่งที่เราไว้ใจ ความจริงหรือความไว้วางใจที่เป็นรูปของความเชื่อนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความจริงที่ตรงตามหลัก เหตุผลหรือ หลักวิทยาศาสตร์ใด ๆ คนที่เชื่อในฤกษ์ยามก็จะถือว่า วันเวลาการโคจรของดวงดาวจะก่อให้เกิดผล ต่อตัวมนุษย์

คนที่เชื่อเครื่องรางของขลังก็จะมีความยึดมั่นว่า เครื่องรางของขลังให้คุณให้โทษแก่ตนได้จริง ตัวอย่างของความเชื่อ ได้แก่ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ โชคลาง ของขลัง ผีสาง นางไม้ ความเชื่ออำนาจ ลึกลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เหล่านี้เป็นต้น สำหรับความเชื่อของชาวโนราที่มีผลต่อจิตวิญญาณของคนในชุมชนผ่านการสืบสาน ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมีความเชื่ออยู่หลากหลายประการ ดังนี้

๑.ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอโนรา บางแห่งเรียกว่า ตายายโนรา คือบูรพาจารย์โนราและบรรพบุรุษของโนราที่ล่วงลับไปแล้ว โดยโนราเชื่อว่าครูหมอเหล่านี้ยังมีความผูกพันกับลูกหลานและผู้มีเชื้อสายโนรา หากลูกหลาน เพิกเฉยไม่เคารพบูชาไม่เซ่นไหว้ ก็จะได้รับการลงโทษจากครูหมอโนราด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำให้ เจ็บป่วยจะแก้ได้ด้วยการบนบวงสรวง อนึ่ง ถ้าจะให้ครูหมอโนราช่วยเหลือในกิจบางอย่างก็ทำได้โดย การบนบานหรือบวงสรวงเช่นกัน จากความเชื่อนี้จึงทำให้เกิดพิธีกรรมโนราโรงครูซึ่งในพิธีนี้ มีการเชิญ ครูหมอโนราเข้าทรงรับเครื่องสังเวยและมีการรำถวายครู

๒.ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ การรำโนราและการประกอบพิธีกรรมโนราโรงครูจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น เวทมนตร์คาถา การทำและป้องกันคุณไสย เชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อเรื่องโชคลาง เชื่อเรื่องอำนาจเร้นลับของโนราใหญ่ในขณะทำพิธีโนราโรงครู

๓. ความเชื่อเรื่องการรำแก้บน ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า การบนและการแก้บนครูหมอโนราจะทำให้ตนเองได้รับ ความช่วยเหลือในสิ่งที่ปรารถนา และพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ การบนและการแก้บนมีทั้งเกิดจากความต้องการให้ครูหมอโนราช่วยเหลือ และบนเพราะถูกครูหมอโนราลงโทษด้วยสาเหตุต่าง ๆ

๔. ความเชื่อเรื่องการรำครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ คณะโนราเชื่อว่าผู้ที่จะเป็นโนราโดยสมบูรณ์สามารถเป็นโนราใหญ่หรือนายโรงโนราและทำพิธีโนราโรงครูได้ ต้องได้รับการครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่เสียก่อน

๕.ความเชื่อเรื่องการผูกผ้าปล่อย ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าผู้ที่เป็นโนราหรือเชื้อสายโนรา หากมีความประสงค์จะเลิกรำโนรา ตัดขาดจากเชื้อสายโนราโดยไม่ถูกครูหมอโนราลงโทษ ต้องมาให้โนราใหญ่ทำพิธีผูกผ้าปล่อยให้ในพิธีโนราโรงครูจึงจะตัดขาดจากความเป็นโนราและเชื้อสายโนราได้

ความเชื่อเรื่อง “เหยียบเสน” ในพิธีกรรมโรงครู ภาพ – Thai PBS

๖.ความเชื่อเรื่องการเหยียบเสน ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า เสน เกิดจากการกระทำของผีเจ้าเสน ผีโอกะแชง ตายายย่าง คือ ผีบรรพชนกระทำให้เจ็บออด ๆ แอด ๆ ซูบผอมจนเกิดแผลปานแดงนูน บนตัวทารกที่เรียกว่า “เสน” จากความเชื่อว่าถูกทำเครื่องหมายก่อนที่จะกลับมาเกิด หรือเพราะครูหมอโนราต้องการให้เด็กคนนั้นรำโนรา จึงทำเครื่องหมายเอาไว้ จะหายได้ก็ต่อเมื่อโนราใหญ่ ทำพิธีเหยียบเสนให้ในพิธีกรรมโนราโรงครู

๗.ความเชื่อเรื่องการตัดผมผีช่อ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าผมที่จับกันเป็นกระจุกหรือเหมือนผูก มัดไว้ตั้งแต่กำเนิด เป็นเพราะครูหมอโนราต้องการให้คนหนึ่งคนใดเป็นโนราหรือคนทรง ครูหมอโนราจึงผูกผมเป็น เครื่องหมายเอาไว้ จะแก้ได้โดยให้โนราใหญ่เป็นผู้ตัดในพิธีกรรมโนราโรงครู เชื่อว่าผมที่ตัดออกจะเป็น ของขลังสำหรับเจ้าของ และผมที่งอกขึ้นใหม่จะไม่เป็นกระจุกอีก

๘.ความเชื่อเรื่องการรำสอดเครื่องสอดกำไล (พิธีสอดไหมรยฺ) ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า ผู้ที่จะต้องการจะได้รับการยอมรับในการเป็นโนราจากครู โนรา ต้องผ่านพิธีการรำสอดเครื่องหรือที่เรียกว่า “จำผ้า”ส่วนผู้ที่ต้องการจะฝากตัวเป็นศิษย์ของโนรา ทั้งที่เคยหัดรำโนรามาแล้วหรือไม่เคยหัดรำมาก่อน จะต้องทำพิธีสอดกำไล หรือสอดไหมรยฺ เพื่อให้ครูรับไว้เป็นศิษย์

๙.ความเชื่อเรื่องการรักษาอาการป่วยไข้ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าครูหมอและพิธีกรรมโนราโรงครูสามารถรักษาอาการป่วยไข้ที่มาจากความผิดปกติของร่างกาย โรคภัยหรือเกิดจากการกระทำของครูหมอโนรา ด้วยการบนบาน การรักษาด้วยเวทย์มนต์คาถาโดยผ่านโนราหรือคนทรงครูหมอโนรา

๑๐.ความเชื่อเรื่องการเข้าทรงและร่างทรง ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าครูหมอสามารถติดต่อกับลูกหลานได้โดยผ่านศิลปินโนรา โดยเฉพาะโนราใหญ่และการเข้าทรงในร่างของครูหมอโนราองค์นั้น ๆ

เนื่องจาการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสมัยโบราณที่มีความเจริญทางด้านวิชาการน้อย ความเชื่อจึงเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติที่มนุษย์ได้เชื่อว่า เป็นการบันดาลให้เกิดขึ้นจากอำนาจของเทวดา พระเจ้า เทพ ภูตผีปีศาจ หรือวิญญาณของบรรพบุรุษ มนุษย์จึงพยายามที่จะคิดหาวิธีการที่จะก่อให้เกิดผลในทางที่ดีให้กับคนชุมชนตลอดจนคนในครอบครัว จึงเกิดความเชื่อนานัปการขึ้นและเป็นการแก้ปัญหาให้พบกับความสุข เพื่อกระทำต่อสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านั้น ทำให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นพิธีกรรมต่าง ๆ ผ่านโนรา หรือศาสนาเกิดขึ้นด้วยการเคารพต่อสิ่งที่มองไม่เห็น

การบนบานศาลกล่าวต่อวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นองค์ความรู้ทางด้านความคิดของบรรพบุรุษที่ได้มีการส่งต่อมาถึงลูกหลาน ซึ่งปัจจุบันความเจริญทางด้านวิชาการแขนงต่าง ๆ นั้นอาจมีมากมาย พร้อมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การดำรงชีวิตอาจจะแตกต่างจากรุ่นปู่ ย่า ตายาย ในอดีต แต่เรื่องราวความเชื่อต่าง ๆ ของชาวโนราก็ยังให้มีให้พบเห็นผ่านพิธีกรรมโนราโรงครู การแสดงโนรา ซึ่งยังมีการสืบสาน รักษา และต่อยอดโดยลูกหลานเชื่อสายโนรานั้นเอง

ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
📷 โนรา

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร