“….ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวสารคดีดัง ว่า ที่รอดตาย เพราะ พระดีที่เมืองไทย…”
เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าที่ออกมาจากปากของ วิลาศ มณีวัต นักเขียนชื่อดังแห่งประเทศไทยคนหนึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความน่าเชื่อถือได้มากพอสมควร เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ โดยรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นลองไปอ่านกันดีกว่าครับ
มีนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งแวะมาที่สำนักงาน “สตูดิโอ เท็น” ถนนอรรถการประสิทธิ์ ตอนนั้นสิบโมงเช้าแล้ว ทีมงานมากมายตัดต่อภาพยนตร์สารคดีท่องเที่ยวชุด “ชีพจรลงเท้า” อยู่นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้นั้นยังหนุ่มอยู่ หน้าตาหล่อเหลาเล่นหนังได้สบาย พอเขายื่นนามบัตร ผมก็นึกออกว่าเป็นใคร เพราะหลานผมที่กำลังเรียนอยู่ที่ปารีสได้มีจดหมายฝากฝังมาก่อนแล้วว่าถ้าเจ้าหนุ่มคนนี้โต๋เต๋มาถึงบางกอกล่ะก็ ขอให้ผมช่วยรับรองหน่อย เพราะเขามีบุญคุณเคยช่วยเหลืออุปการะหลานผมมากในปารีส
นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้นี้กำลังเขียนประวัติ ประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอโกลล์ ผู้นำคนสำคัญของฝรั่งเศส วิธีเขียนหนังสือของฝรั่งเศสนั้น เขาใช้เวลาค้นคว้ามาก อ่านหนังสือกันเป็นตั้งๆเท่านั้นยังไม่พอ ต้องออกเที่ยวสัมภาษณ์ใครต่อใครให้ยุ่งไปหมด แล้วเอาเรื่องราวมาปะติดปะต่อกันเข้า ภายหลังจากที่ได้สอบถามแล้วว่า เรื่องเล่าเหล่านั้น เชื่อถือได้
เขาบอกว่า จากการสัมภาษณ์นายพลคนสนิทของเดอโกลล์ เขาได้ทราบว่า เมืองไทยมี “พระดี” อยู่องค์หนึ่ง และตอนที่เดอโกลล์ถูกยิงด้วยปืนกล กระสุนปืนกลถูกรถพรุนไปทั้งคัน แต่เดอโกลล์ก็รอดตายมาได้อย่างมหัศจรรย์
“ภริยาของเดอโกลล์เชื่อว่า เดอโกลล์รอดตายครั้งนั้นเพราะ พระผู้มีอภินิหารยิ่งใหญ่ในเมืองไทย ได้เสด็จไปช่วยชีวิตไว้” เขาบอก
นักเขียนฝรั่งเศสคนนี้เล่าต่อไปว่า เขาเองไม่เชื่อในเรื่องอภินิหารและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีใจกว้างยินดีที่จะรับฟังเขาจึงได้ไปที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในปารีส สอบถามคนไทยที่นั้นว่า
“เคยได้ยินเรื่อง พระไทยสำแดงอิทธิฤทธิ์ไปช่วยชีวิตประธานาธิบดีเดอโกลล์หรือเปล่า” ไปถามทีแรกไม่มีใครรู้เรื่องเขาจึงไปอีกหนหนึ่ง คราวนี้พบผู้หญิงไทย เธอคงจะเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงบอกกับเขาว่า “พระที่มีอภินิหารองค์นี้ชื่อ หลวงพ่อเทิด อยู่ทางส่วนใต้ของประเทศไทย” นี่เป็นคำเล่าของนักเขียนฝรั่งเศส
ผมฟังแล้วรู้ทันทีว่า เขาจำชื่อผิด ที่ถูกควรเป็น “หลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ ปัตตานี” ผมเป็นลูกปักษ์ใต้ จึงทราบดี
นักเขียนคนนี้อุตส่าห์บินมาเมืองไทย ก็เพื่อจะถ่ายภาพหลวงพ่อทวด เอาไปลงประกอบในหนังสือประวัติเดอโกลล์ ที่เขาเขียนจวนจะเสร็จแล้ว ผมบอกว่า หลวงพ่อทวด มรณภาพไปนานแล้ว เวลานี้มีแต่พระเครื่อง ถ้าจะถ่ายรูป ก็ต้องถ่ายพระเครื่อง ซึ่งคนไทยถือกันว่า “ศักดิ์สิทธิ์มาก เคยช่วยชีวิตคนมามากแล้ว”
แต่บอกตรงๆ ผมก็สงสัยเหมือนกันว่า หลวงพ่อทวดรู้จักนายพลเดอโกลล์ได้อย่างไรคุยกันอยู่ครู่ใหญ่ๆหมดน้ำชาไปกาหนึ่ง นักเขียนฝรั่งเศสบอกว่า ไหนๆก็มาแล้ว จะขอเดินทางไปปัตตานีไปถ่ายภาพวัดช้างไห้ และจะสัมภาษณ์พระในวัด หรือชาวบ้านบางคนด้วย
“มันเป็นเรื่องน่าสนใจ” เขาว่า “คนฝรั่งเศสเองก็เชื่อในเรื่องของอภินิหารและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย”
ผมก็เลยต้องไปปัตตานี ไปเจอะเอาเพื่อนจุฬาฯ รุ่นก่อนผมปีหนึ่ง เขาเคราพนับถือ “สมเด็จหลวงพ่อทวด” มาก เขาจึงให้หนังสือเล่มเล็กๆผมมาเล่มหนึ่งชื่อ”อภินิหารสมเด็จหลวงพ่อทวด”
ผมจึงแปลเป็นเลาๆให้นักเขียนฝรั่งเศสฟังว่า…
ในราว พ.ศ.๒๕๐๔ หรือ พ.ศ.๒๕๐๕ นี้แหละ ได้มีการปลุกเสกหลวงพ่อทวดฯ ทางวัดได้ส่งพระเครื่องจำนวนหนึ่งมาให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อแจกจ่ายให้แก่นายทหารคนใกล้ชิดบางคนในจำนวนนายทหารไม่กี่คนที่ได้รับแจกพระเครื่องสมเด็จหลวงพ่อทวดฯ นี้มีพลโทอำนวย ชัยโรจน์ ทูตทหารบกประจำฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง
พลโทอำนวย ชัยโรจน์ได้รับแจกไปสององค์ ก็เลยได้นำติดตัวไปฝรั่งเศสด้วย ระหว่างอยู่ที่ปารีส ทูตทหารบกประจำฝรั่งเศสผุ้นี้ได้เข้าพบประธานาธิบดีเดอโกลล์ และเนื่องจากมีความนิยมในตัวของเดอโกลล์อยู่แล้ว จึงได้มอบ “พระเครื่องสมเด็จหลวงพ่อทวดฯ” ให้แก่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสไปองค์หนึ่งพร้อมกับอธิบายให้เดอโกลล์ฟัง ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทวดว่า
ถ้าอาราธนานึกถึงด้วยความเคารพล่ะก็ อาจสามารถเสด็จไปช่วยเวลามีภัยมาถึงตัว ถึงอยู่ฝรั่งเศสก็เสด็จไปถึงได้ เพราะในโลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์นั้น ลัดนิ้วมือเดียว กะพริบตาทีเดียว…ก็ไปถึงฝรั่งเศสแล้ว
เมื่อได้ “พระสมเด็จหลวงพ่อทวดฯ” ไปแล้ว ประธานาธิบดีเดอโกลล์ก็พกติดตัวไปด้วยทุกหนทุกแห่ง
ผมปะติดปะต่อเรื่องเอาเองได้ความว่า ต่อจากนั้นไม่กี่เดือนก็เกิดเหตุการณ์ระทึกใจ กล่าวคือเดอโกลล์ผู้เข้มแข็งได้ถูกพวกใต้ดินคณะหนึ่งระดมยิงด้วยปืนกล ในระหว่างที่อยู่ในรถยนต์กับภริยาในกรุงปารีส เป็นที่น่าหวาดเสียวอย่างยิ่ง กระสุนปืนกลถูกรถพรุนไปทั้งคัน การยิงก็อยู่ในระยะประชิดมาก แต่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็รอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์
เดอโกลล์เงียบไม่ได้วิจารณ์แต่ภริยาของท่าน บอกกับเลขานุการว่า เธอเชื่อเหลือเกินว่า สามีรอดตายเพราะ “สมเด็จหลวงพ่อทวดฯ” ได้เสด็จไปช่วยชีวิตไว้เพราะเธอเป็นคนอธิษฐาน พอได้ยินเสียงรัวปืนกล เธอก็นึกขอให้ “พระ” เสด็จมาช่วย
นักเขียนฝรั่งเศสได้สัมภาษณ์พระที่วัดช้างไห้ และสัมภาษณ์ชาวบ้านอีกสองสามคนผมส่งเขาขึ้นเครื่องบินกลับปารีสไปแล้วปลายปีนี้หนังสือประวัติเดอโกลล์ของเขา ก็คงจะออกวางจำหน่าย เขารับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จะต้องส่งมาให้ผมหนึ่งเล่ม
เรื่องอภินิหารแบบนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะไม่เชื่อ ผมเองเมื่อหนุ่มๆก็ไม่ค่อยจะเชื่อหรอก แต่พอหนุ่มน้อยลงก็เริ่มเชื่อเข้าบ้างแล้วเมื่อเชื่อแล้ว…ก็ไม่อยากทำบาป เห็นใครทำบาปก็นึกสงสารใครด่าทีสองที เริ่มจะไม่โกรธ มีแต่สงสารและเมตตา…”
อ้างอิงข้อมูลจาก – หนังสือหัวเตียง ของ วิลาศ มณีวัต หน้า ๒๘-๓๓
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาบุญท่านทุกๆท่าน