เปิด 10 ข้อคิด “ถ้าคิดได้อย่างนี้ เธอก็จะมีความสุข”

864
views

“พศิน อินทรวงค์” ปลดวางองค์แห่งนักแต่งเพลงป็อป ก้าวสู่ความเห็นชอบในธรรมะ ปฏิบัติด้วยตน ก่อนถ่ายโอนประสบการณ์เหล่านั้นสู่งานเขียนหลายสิบเล่ม เป็นวิทยากรผู้ชี้แสงแห่งความสุขในโลกที่คนทุกข์ล้นหล้า

ถ้าคิดได้อย่างนี้ เธอก็จะมีความสุข – พศิน อินทรวงค์

1. ความสุขไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป ความทุกข์ก็เหมือนกัน คนเราเวลาสุขก็ลืมไปว่า ความสุขไม่จีรัง เวลาทุกข์ก็ลืมไปว่า ความทุกข์ก็ไม่จีรัง มองทุกสิ่งให้เป็นของชั่วคราว ทั้งสุขทุกข์ ให้มองมันเป็นของกลางๆ ให้รักษาความสมดุลของใจไว้ อย่าให้ขึ้นลงตามสุขและทุกข์

2. สุขทุกข์ แท้จริงเกิดจากความคิด มิได้มีอยู่ด้วยตัวของมันเอง สังเกตให้ดีเราจะเห็นได้ว่า ความคิดของเรามักไหลไปตามสถานการณ์ ถ้าสถานการณ์ชีวิตไปในทิศทางที่ดี เราก็สุข ถ้าสถานการณ์ชีวิต ไปในทิศทางที่ไม่ดีเราก็ทุกข์ แม้เราฝึกใจให้เป็นผู้ดู ไม่ลงไปเป็นผู้เล่นกับสถานการณ์ ใจของเรายอมอยู่ตรงกลาง ไม่ขึ้น ไม่ลง ไม่เรียกว่าดีใจ หรือเสียใจ แต่จะเรียกใหม่ว่า เป็นความเบิกบานแท้จริง

3. ความโลภ คือความอยากได้ ถ้ามีนิด ๆ ช่วยให้ขยัน ถ้ามีมากไป จะสร้างความทุกข์ได้ ความโกรธ คือใจที่ร้อน สิ่งนี้ไม่มีอะไรดี มีแต่ข้อเสีย ความหลง คือเรื่องลึกซึ้งเพราะความหลงมีหลายระดับ หลงในลาภ ยศ สรรเสริญว่าร้ายแล้ว หลงในตัวตนยิ่งร้ายกว่า ที่สุดของที่สุด คือหลงในสมมุติ อันที่จริงแล้ว เราสมมุติกันไปเองทั้งนั้นว่ามีเรา มีเขา แท้จริงไม่มีอะไร ทุกสรรพสิ่งคือภาวะชั่วคราว จบเรื่องนี้ ประกอบเป็นเรื่องใหม่ ซ้ำ ๆ วนเวียนเช่นนี้ เรื่อยไปจนกว่าจะรู้ความจริง

4. ถ้าเป็นไปได้ ชีวิตนี้ควรเห็นแก่ตัวให้น้อย คิดถึงผู้อื่นให้มาก เรื่องนี้พูดง่าย แต่ทำยาก จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจชีวิตในหลายแง่มุม อาจต้องผ่านอะไรมามาก จนคิดได้ว่า เห็นแก่ตัวไปก็เท่านั้น ตายแล้ว ก็เอาอะไรไปไม่ได้ น่าแปลกที่สิ่งนี้กว่าจะเข้าใจได้ คนส่วนใหญ่ก็ใช้เวลานานพอดู หากทุกคนเข้าใจได้เร็ว ก็จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง และผู้อื่น หากยอมรับความจริง ตั้งสติ และคิดให้นานพอ เราจะเห็นเลยว่า ความเห็นแก่ตัวของเรานั่นเองที่เป็นตัวตนของความทุกข์ ทุกข์ไม่ได้เกิดจากใครทำ เราทำตัวเองทั้งนั้น กิเลสของเรานั่นเอง ที่ลงมือทำร้ายตัวของเราเอง

5. หากเราไม่สังเกต เราจะไม่เห็นความจริงของชีวิตเลย ความจริงของชีวิตเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้เรามาก ที่จริงมันเป็นเลือดเนื้อตัวตนของเรา ใกล้มากเกินไปอย่างนี้เราจึงเห็นแต่สิ่งไกลตัว เรื่องใกล้ตัวที่สุดกลับกลายเป็นเรื่องไกลตัวที่สุด คนส่วนใหญ่ มักศึกษาใจตัวเองตอนแก่ เวลามีน้อย ก็ศึกษาไม่ทัน คงจะดีมากหากเราตั้งคำถามกับตนเองซ้ำ ๆ ว่า ทำไมเราจึงมีความทุกข์ แล้วความทุกข์มาจากไหน ลองไล่หาคำตอบดู ทวนกระแสนอกตัวเข้ามาในตัวให้ได้ ถ้าเรามองเข้ามาภายในได้ เราจะเห็นกระแสความทุกข์ที่เกิดจากตัวตนของเรา สิ่งนี้ต้องอาศัยการสังเกตอย่างเป็นกลาง มันไม่ใช่ความคิดนึก แต่คือการเห็นไปตามความเป็นจริง ซึ่งต้องมีการเร้าสติให้ตื่นตัว คำว่าตื่นตัว หมายความว่า ตื่นจากตัวตน

6. ปัญญา กับเมตตาคือปีกสองข้าง สำคัญเท่าเทียมกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน ปัญญาคือสติเห็นความจริงของกายใจ เห็นว่า กายใจคือสิ่งไม่เที่ยงโดยวงรอบทั้งสี่ คือเกิด ตั้งอยู่ เสื่อม และดับ เช่นนี้วนเวียนไม่รู้จบ เป็นการทำลายตัวตนจากในสู่นอก ส่วนเมตตานั้นต่างออกไป เมตตาคือเห็นว่า ไม่มีเรา ไม่มีเขา ทว่ามีแต่เพื่อนพ้องน้องพี่ ความสุขของเขาคือความสุขของเรา และความทุกข์ของเขาก็คือความทุกข์ของเราเช่นกัน คิดเช่นนี้ ตัวเราจึงมิได้อยู่เพื่อตนเองเท่านั้น แต่ตัวเรายังมีหน้าที่เพื่อทำให้ผู้อื่นมีความสุขอีกด้วย นี่คือการทำลายตัวตนจากภายนอกสู่ภายใน ปัญญาและเมตตาจึงต้องมีคู่กันเสมอ ดังวิปัสสนาเคียงคู่พรหมวิหารธรรม โบยบินสู่ดินแดนแห่งสันติ เมื่อพบความสันติแล้ว เราก็ถึงบ้าน การเดินทางทั้งหมดสิ้นสุดลงที่ตรงนั้น

7. ความสุขอยู่กับเราเสมอ ไม่เคยจากไปไหน แต่เราถูกกิเลสบังตา กิเลสผลักเราสู่อนาคต และอดีต มันโหยหาบางสิ่งที่ผ่านพ้น สร้างความเจ็บปวดให้ตนเองจากร่องรอยความทรงจำ นอกจากอดีตแล้ว หลายครั้งมันยังผลักเราสู่อนาคตด้วย มันทำให้เรารุมเร้าตนเองด้วยความกลัวซึ่งถูกจินตนาการสร้างขึ้น หากเป็นไปได้จงอยู่กับปัจจุบัน ทำสิ่งใดก็อยู่กับสิ่งนั้น อยู่กับลมหายใจ อยู่กับต้นไม้ใบหญ้า ลองฝึกฝนดู ฝึกให้ตนเองอยู่กับปัจจุบันขณะ กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง เห็นสิ่งที่มอง จดจ่ออยู่กับวัตถุ บุคคล การงานที่อยู่ตรงหน้า สร้างสภาวะรู้ตัวทั่วพร้อมให้เกิดขึ้นเสมอ ๆ ในแต่ละวัน

8. ชีวิตนี้เราไม่ควรใช้ความรุนแรง ไม่ว่าแง่มุมใด เพราะความรุนแรง ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่พูดเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ความอ่อนนุ่มจะดีเสมอไป จำเป็นต้องรู้รักษาสมดุล พอเหมาะคือพอดี พอดีแปลว่า พอแล้วดี จะพอดีได้ ก็ต้องมีดีให้พอเสียก่อน ดีมิใช่ทำดี เพื่อเป็นคนดี แต่เพราะ รู้ว่า ทำดี แล้วจะดี จึงเต็มใจทำ แม้ทำดียังต้องค่อย ๆ ทำ ไม่ใช้ความรุนแรง อย่าตั้งใจทำดีมากเกินไป ไม่เช่นนั้น ยิ่งทำดี จะยิ่งติดดี กลายเป็นความลำบากของชีวิตในรูปแบบใหม่

9. ใกล้ชิดธรรมชาติ อยู่กับความเรียบง่าย คิดถึงตนเองให้น้อยหน่อย คิดถึงผู้อื่นให้มากหน่อย ทำตัวให้เล็ก ๆ เพื่อกลมกลืนกับธรรมชาติ เชื่อเถะว่า ความสุขเป็นของหาง่าย มิใช่ของหายาก แม้จริงใจซื่อสัตย์ต่อกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ความทุกข์ย่อมมาเยี่ยมเรือนใจน้อยลงไปมาก

10. ขอบคุณตนเอง ขอบคุณผู้ที่เคยปกป้องดูแล ขอบคุณต้นไม้ ทะเล ภูเขา สายลม และแสงแดด ที่จริงเราเป็นหนี้บุญคุณธรรมชาติมากมาย อ่อนน้อมถ่อมตนกับธรรมชาติ ใส่ใจสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว เห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เคยถามตนเองบ้างไหม ว่าจะมีความทุกข์ไปทำไม เมื่อตัวเราเล็กแค่นี้ เมื่อชีวิตคือสิ่งชั่วคราวเช่นนี้ เคยถามตนเองบ้างไหมว่า เราจะโกรธ เกลียด เห็นแก่ตัวเพื่อะไร ทั้งที่สิ่งเหล่านี้คือกองไฟเผาใจ คือของอันตรายทั้งนั้น อะไร ๆ เราก็ยึดไปหมด อะไร ๆ เราก็ท้อไปหมด เคยถามตนเองบ้างไหม ทำไมเราจึงทำร้ายตนเองเช่นนั้น ความสุขไม่เคยไปไหนเลย ยังอยู่กับเราเสมอ เหมือนเสียงความเงียบ

ความเงียบมีอยู่ทุกที
หากไม่พบพาน ลองหยุดนิ่ง แล้วฟัง
ความเงียบแท้จริง ไม่ได้มาจากภายนอก
ความเงียบจากภายนอก ยังมิใช่ความเงียบแท้
ความเงียบที่แท้ ดังก้องจากใจส่วนลึก
เธอเห็นไหม ความสุขแท้จริงอยู่ตรงนั้น…

***ติดต่อ พศิน อินทรวงค์***
วิทยากร/บรรยาย/หนังสือ/บทความ
https://www.facebook.com/talktopasin2013
***ติดตามช่องยูทูป***
พศิน อินทรวงค์ – Pasin Intarawong
https://www.youtube.com/channel/UCccGJ9suemcJiF6WQqxUuGQ

ที่มาเพจ พศิน อินทรวงค์ (https://www.facebook.com/talktopasin2013)

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร