21 เมษายน วันสถาปนา ‘กรุงเทพมหานคร’

723
views

ย้อนกลับไปในสมัยที่เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นมีการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 ต่อมาในวันที่ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันเริ่มก่อตั้งศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก มีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก ‘บวรรัตนโกสินทร์’ เป็น ‘อมรรัตนโกสินทร์’ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2514 รัฐบาลได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกัน เป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และในปี 2515 เปลี่ยนชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

จุดสำคัญของศาลหลักเมืองคือ เสาหลักเมือง ซึ่งได้กระทำพิธียกเสาขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เดิมทีเสาหลักเมือง มีเพียงศาลาปลูกไว้กลางแดดกันฝนเท่านั้น จนชำรุดลงอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯให้ทำขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครมีเสาหลักเมือง 2 ต้น นับจากนั้นเป็นต้นมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 นาฬิกา การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่า พระราชพิธีนครฐาน ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มี เส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้ขุดเสาหลักเมืองเดิม และจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด เป็นแกนไม้สัก ประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่น สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า 5 เมตร และอัญเชิญหลักเมืองเดิม และหลักเมืองใหม่ ประดิษฐานในอาคารศาลหลักเมืองที่สร้างใหม่ มียอดปรางค์ ก่ออิฐฉาบปูนขาว ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช 2395

ศาลหลักเมืองได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2523 มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี พ.ศ. 2525 ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม ด้านทิศเหนือจัดสร้างซุ้มสำหรับประดิษฐานเทพารักษ์ทั้ง 5 คือเจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี มีการจัดละครรำ ละครชาตรี ให้ผู้ต้องการบูชา ว่าจ้างรำบูชาศาลหลักเมืองอยู่ด้านข้าง

ที่มาต้นฉบับ – voicetv, MuseumThailand

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร