ศึกถลาง

593
views

เชิดชูวีรสตรี ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

จิตรกรรมศึกถลาง พ.ศ.๒๓๒๘
"อธิษฐาน"
จิตรกรรมศึกถลาง พ.ศ.๒๓๒๘
“อธิษฐาน”

พ.ศ.๒๓๒๘ ขณะที่กรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งตั้งมาได้ ๓ ปี พม่าได้กรีธามาถึง ๙ กองทัพ นอกจากทัพหลวงพร้อมด้วยทัพหน้าทัพหนุนมุ่งเข้าบดขยี้กรุงเทพฯแล้ว ยังส่งกองทัพตีตัดกำลังตั้งแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือจนจดฝ่ายใต้ ไม่ให้ยกกำลังมาช่วยกรุงเทพฯได้

ทัพที่ตีภาคใต้ลงไปนั้น มีทั้งทัพบกและทัพเรือ เข้ายึดเมืองมะริดที่เป็นเมืองท่าสำคัญของไทยได้เป็นแห่งแรก จากนั้นกองทัพบกเข้าตีเมืองระนอง ชุมพร ไชยา ลงไป ส่วนทัพเรือตีหัวเมืองชายฝั่งลงใต้เช่นกัน

แม้จะมีหลายเมือง อย่าง ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง เจ้าเมืองต่างทิ้งเมืองพาครอบครัวหนีไปซ่อนในป่า พม่าเผาเมืองชุมพรจนราบ เมืองไชยาก็โดนทำลายเช่นเดียวกัน ส่วนนครศรีธรรมราชราษฎรถูกฆ่าตายเกลื่อนกราดโดยเฉพาะผู้ชาย ที่พัทลุงเจ้าเมืองพาครอบครัวหนีเข้าป่าเหมือนกัน แม้พม่าจะไม่ได้ผ่านมาทางนั้น

จิตรกรรมศึกถลาง พ.ศ.๒๓๒๘
"ระดมพล"
จิตรกรรมศึกถลาง พ.ศ.๒๓๒๘ “ระดมพล”

ส่วนที่เมืองถลาง บนเกาะภูเก็ต พระยาพิมลขันธ์ เจ้าเมืองเพิ่งถึงแก่กรรมไม่นาน ทั้งยังติดค้างค่าภาษีอากรที่ทางส่วนกลางให้เจ้าเมืองรับเหมาไปเก็บ กรุงเทพฯได้ส่งพระยาธรรมไตรโลก ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ลงไปเร่งรัดหนี้ เมื่อเจ้าเมืองถลางถึงแก่กรรมยังไม่มีเจ้าเมืองใหม่ ผู้สำเร็จราชการจึงเร่งรัดเอาจากคุณจันท์ ผู้เป็นภรรยา และเมื่อคุณจันท์ไม่มีจ่าย พระยาธรรมไตรโลกก็ควบคุมตัวไปกักขังไว้ที่เมืองตะกั่วทุ่ง ตรงข้ามช่องแคบของเกาะภูเก็ตกับแผ่นดินใหญ่ พอพม่ายกมาถึงเมืองตะกั่วทุ่ง คุณจันท์จึงอาศัยช่วงชุลมุนที่พระยาธรรมไตรโลกออกไปสู้ข้าศึกจนตัวตาย หนีกลับไปเมืองถลาง

ขณะกลับไปถึง ชาวเมืองทั้งกรมการเมืองกำลังแตกตื่นเสียขวัญเมื่อรู้ว่าพม่าจะยกมาตี เตรียมพากันหลบหนีเข้าป่า แต่เมื่อเห็นคุณจันท์กลับมา ก็ทำให้ทุกคนมีกำลังใจขึ้น เพราะทุกคนต่างรักใคร่และศรัทธาในตัวนาง
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า

“ฝ่ายยี่หวุ่นแม่ทัพเรือพม่าลงไปตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแตกแล้ว ยกไปถึงเกาะถลางให้พลทหารขึ้นบกแล้วตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้เป็นหลายค่าย และเมื่อกองทัพพม่าไปถึงเมืองถลางนั้น พระยาถลางถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว ยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ไม่ และจันท์ภรรยาพระยาถลางกับน้องหญิงคนหนึ่งชื่อมุก คิดอ่านกับกรมการทั้งปวงเกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ และตัวภรรยาพระยาถลางกับน้องผู้หญิงนั้น องอาจกล้าหาญมิได้เกรงกลัวย่อท้อต่อข้าศึก เกณฑ์กรมการกับพลทหารทั้งชายหญิงออกระดมยิงปืนใหญ่น้อยนอกค่ายสู้รบกับพม่าทุกวัน ทัพพม่าจะหักเอาเมืองมิได้ แต่สู้รบกันอยู่ประมาณเดือนเศษ พม่าขัดเสบียงอาหารลง จะหักเอาเมืองมิได้ ก็เลิกทัพลงเรือกลับไป”

จิตรกรรมศึกถลาง พ.ศ.๒๓๒๘
"รับพระบรมราชโองการ"
จิตรกรรมศึกถลาง พ.ศ.๒๓๒๘
“รับพระบรมราชโองการ”

“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการโปรดให้มีตราออกไปยังเมืองถลาง ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่ แล้วโปรดตั้งจันท์ภรรยาถลางเก่าซึ่งออกต่อรบพม่านั้นเป็นท้าวเทพสตรี โปรดตั้งมุกน้องสาวนั้นเป็นท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง ๒ คน ตามสมควรแก่ความชอบในการสงครามนั้น…”

ด้วยความสำนึกในคุณงามความดีต่อแผ่นดินของท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร นายอ้วน สุระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จึงได้ชักชวนชาวภูเก็ตพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรขึ้นที่สี่แยกท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ตรงกับวันชัยชนะของชาวถลางเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ ซึ่งเป็นวันที่พม่าต้องถอยทัพไปจากเมืองถลาง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอนุสาวรีย์นี้เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๐

ต้นฉบับ ► เกร็ดประวัติศาสตร์ v 2

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร