“สีลัพพตปรามาส” ความโง่เขลา งมงาย ชั้นต่ำที่สุด หากละไม่ได้ ก็เรียกไม่ได้ว่าเป็น “อริยะ”
“คนส่วนมากเชื่อง่าย และเต็มไปด้วยความกลัว ไม่มีสติปัญญา หรือความรู้เพียงพอ ที่จะควบคุมความเชื่อและความกลัว จึงทำอะไรอย่างงมงาย หรือผลีผลามไปตามอำนาจของความเชื่อและความกลัวเหล่านั้น ในลักษณะง่ายๆ และสะดวกๆ หรือถึงกับใช้คนอื่นทำแทนให้ก็ยังมี เช่น บาปของตัวเองก็ให้คนอื่นช่วยล้างได้ หรือเชื่อว่าความตายเป็นสิ่งที่ผัดเพี้ยนกันไว้ก่อนได้ อายุเป็นสิ่งที่ต่อกันได้ด้วยการทำพิธี และถือว่าอะไรๆที่ตัวกลัวหรือเป็นทุกข์อยู่นั้น ย่อมแก้ได้หมดด้วยพิธีต่างๆในทางศาสนา นี่เป็นตัวอย่างความงมงายชั้นต่ำที่สุด ซึ่งมีอยู่มากมายเหลือที่จะนำมากล่าว
ส่วนที่สูงขึ้นมาจากนั้น ก็หมายถึง ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของ…“ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ” โดยที่แท้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ..“ขัดเกลากิเลส” เช่น โลภ โกรธ หลง งมงาย ขจัดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น“ตัวตน-ของตน” แต่ก็กลับไปประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ส่งเสริมความรู้สึกเป็น“ตัวตน-ของตน” ให้เหนียวแน่น ประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเรื่องของ “ความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง” ที่จะดลบันดาลให้ตนได้รับสิ่งที่ตนต้องการ…”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยาย เรื่อง “วิธีลดอัตตา”
“สีลัพพตปรามาส” คืออะไร? หากละไม่ได้ ก็เรียกไม่ได้ว่าเป็น “อริยะ”
“สีลัพพตปรามาส” คือ การลูบคลำศีลและวัตรให้กลายเป็นของผิดจากความหมายเดิม ข้อนี้หมายถึง การที่เข้าใจผิดในสิ่งหนึ่งจนถึงกับทำสิ่งนั้นซึ่งมีความมุ่งหมายเป็นอย่างหนึ่งให้กลายเป็นอย่างอื่นไป จนผิดความประสงค์เดิม ถึงกับทำสิ่งนั้นให้กลายเป็นของมีมลทินต่ำทรามไป ทั้งนี้ เนื่องมาจากความหลงใหลในสิ่งที่ลึกลับ อัศจรรย์ ที่เข้าใจไม่ได้ มากกว่าที่จะนิยมชมชอบสิ่งที่เปิดเผยชัดเจนเข้าใจได้ เช่น ศีลวัตรข้อปฏิบัติต่างๆในพระศาสนา ซึ่งที่แท้มีไว้เพื่อ..“การขูดเกลากิเลสนำไปสู่ความสงบสุข” กลับยึดถือไปว่า…“เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ผู้นั้นกลายเป็นผู้วิเศษมีอำนาจกายสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งเหนือคนธรรมดา” จนถึงกับปฏิบัติด้วยความลุ่มหลง ยังผลให้เกิดขึ้นคือการเสียจริตก็มี นั่นเป็นผลของการลูบคลำศีลวัตร ทำให้กลายเป็นของสกปรกไป.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ…“ความรู้สึกอันต่ำ” ข้อนี้ ให้เป็น…“ความโง่เขลา”ชนิดหนึ่ง ในบรรดาความโง่เขลาชั้นต้นๆ ที่พระอริยบุคคลชั้นต้นที่สุด คือ พระโสดาบัน จะพึงละเสีย ทรงสอนให้ถือเอากุศลความดีที่ตนกระทำนั่นเองเป็นเครื่องรางสำหรับเป็นเครื่องอุ่นใจปลอบใจให้กล้าหาญ”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จากปาฐกถาธรรม เรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม