เชื่อว่า…หลายคนสงสัย !?! พระ เกจิ ครูบา ต่างกันอย่างไร !!!

853
views

เชื่อว่า…หลายคนสงสัย !?! พระ เกจิ ครูบา ความหมายต่างกันอย่างไร !!! จากข้อมูลจาก หนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ของ รศ.ดนัย ไชยโยธา ได้อธิบายศัพท์ในการเรียกสงฆ์

อย่างเช่น ภิกษุ เป็นคำภาษาสันสกฤต ส่วนภิกขุ เป็นคำภาษาบาลี เป็นนักบวชชายในพระพุทธศาสนา แปลตามคำศัพท์ว่า ผู้ขอ คือ สละโลก สละเคหสถาน และสละทรัพย์สมบัติ เพื่ออุทิศตนศึกษาปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้คนจำนวนมากในสมัยพุทธกาลได้ออกบวชถือเพศบรรพชิต มิได้ประกอบอาชีพ อยู่ได้ด้วยปัจจัยที่ผู้เลื่อมใสนำมาให้ ก็ถือว่าเป็นผู้ขอเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าภิกษุ เรียกว่า ดาบส บ้าง มุนี บ้าง ฤาษี บ้าง ส่วนไทยใช้คำเรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนา เช่น พระภิกษุ พระสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์

พระ ตามการให้ความหมายของ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีหลายความหมาย ความหมายแรก หมายถึงภิกษุสงฆ์ เช่น วัดโพธิ์มีพระและสามเณรอยู่จำพรรษากว่า 200 รูป คุณยายนิมนต์พระมาฉันภัตตาหารเพล คำว่า พระ หากไม่มีคำนำหน้าหรือตามหลัง หมายถึง พระภิกษุในพระพุทธศาสนา มาจากคำบาลีว่า วร แปลว่า ประเสริฐ

อริยสงฆ์ แปลว่า พระสงฆ์ที่เป็นพระอริยบุคคล หมายถึง ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์เป็นที่สุด พระอริยสงฆ์นี้กำหนดเอาคุณธรรมเป็นตัวกำหนดคฤหัสถ์ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปก็นับเป็นพระอริยสงฆ์ได้ แต่เดิมเรียกว่าสาวกสงฆ์

ส่วนคำว่า เกจิ ความหมายพจนานุกรม ของ เปลื้อง ณ นคร ให้ความหมายว่า พวกหนึ่ง, บางพวก, บางเหล่า ภิกษุผู้มีชื่อเสียงด้านคาถาอาคม เช่น ปลุกเสกโดยเกจิดังๆ ทั้งนั้น
เรียกผู้ชำนาญในวงการมวย เช่น บรรดาเกจิพากันยกนิ้วให้มวยคู่นี้

นอกจากนี้ ยังมีคำเรียกว่า เกจิอาจารย์ แปลว่า อาจารย์บางพวก โดยหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สาวกของพระองค์ได้รวบรวมคำสอนของพระองค์ไว้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่าพระไตรปิฎก ต่อมามีภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ได้แต่งอรรถกถาและฎีกาเพื่ออธิบายข้อความในพระไตรปิฎกให้เข้าใจง่ายขึ้น เรียกภิกษุผู้แต่งหนังสือนั้นว่า พระอรรถกถาจารย์ และ พระฎีกาจารย์ และในหนังสือที่แต่งนั้นมักจะมีอ้างถึงความคิดเห็นของอาจารย์พวกอื่น ๆ ที่เห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับผู้แต่ง จึงเรียกอาจารย์ที่ถูกอ้างถึงนั้นว่า เกจิอาจารย์

เกจิอาจารย์ ในปัจจุบันถูกใช้ในความหมายที่ผิดไปจากเดิม คือใช้เรียกภิกษุที่เชื่อกันว่ามีความรู้ความสามารถในด้านคาถาอาคมและการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระเกจิ

ส่วน ครูบานั้น มาจากภาษาบาลีว่า ครุปิ อาจาริโย หรือ ครุปา แล้วก็เพี้ยนเป็น ครูบา

สำหรับภาคเหนือ เป็นตำแหน่งทางสังคมของสงฆ์ล้านนาเพื่อยกย่องพระสงฆ์ผู้ได้รับ ท่านจะต้องมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด ได้รับการเคารพนับถือศรัทธาจากประชาชน หรือ มีผลงานปรากฎแก่ชุมชน ครูบาจึงถือเป็นศูนย์กลางรวมพลังศรัทธาของประชาชนอย่างแท้จริง

ในภาคอีสาน ครูบา แปลว่า ผู้สอน ผู้อบรม ผู้สอนทั้งความรู้และอบรมให้มีอาจาระมารยาทที่ดีงาม
และจะใช้เรียกพระสงฆ์ที่บวชมาไม่เกิน 10 พรรษา

บทความต้นฉบับ

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร