นักโบราณคดีค้นพบ “หินจารึกอักษรรูนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก” ในนอร์เวย์

438
views

นักโบราณคดีค้นพบ “จารึกหินรูนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก” ในนอร์เวย์ คาดเก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการค้นพบมา ระบุว่าจารึกที่พบนี้มีอายุมากถึง 2,000 ปีและมีอายุย้อนไปถึงยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์การเขียนอักษรรูน

อักษรรูนได้ชื่อว่าเป็นอักษรเวทมนตร์ที่มีความเก่าแก่ของอารยธรรมยุโรปก่อนที่จะมีการใช้อักษรละติน จารึกอักษรรูนที่เก่าสุดที่เคยพบคาดว่ามีอายุย้อนไปถึงปี ค.ศ. 50-150 แต่จารึกส่วนใหญ่ที่พบเฉลี่ยมีอายุย้อนไปราวปี ค.ศ. 700-1100

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมออสโล แถลงว่า จารึกที่พบมีลักษณะเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมแบนทำจากหินทรายสีน้ำตาล มีการแกะสลักคำที่คาดว่าเป็นบันทึกลายลักษณ์อักษรชิ้นแรกในสแกนดิเนเวีย เป็น “หนึ่งในจารึกอักษรรูนที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบ”

คริสเทล ซิลเมอร์ ศาสตราจารย์จาดมหาวิทยาลัยออสโล และเป็นบุคลากรของพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่า “การค้นพบนี้จะทำให้เรามีความรู้มากมายเกี่ยวกับการใช้อักษรรูนในยุคเหล็กตอนต้น นี่อาจเป็นหนึ่งในความพยายามแรก ๆ ที่มีการจารึกอักษรรูนลงบนหินในนอร์เวย์และสแกนดิเนเวีย”

นี่ยังนับเป็นหลักฐานการจารึกอักษรรูนบนหินที่สำคัญ เนื่องจากจารึกอักษรรูนเก่าแก่ที่เคยพบมาก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการสลักอักษรบนหิน อักษรรูนที่เก่าแก่ที่สุดก่อนหน้านี้พบว่าถูกจารึกลงบนหวีกระดูกที่พบในเดนมาร์ก

หินอักษรรูนชิ้นล่าสุดนี้ถูกค้นพบเมื่อปลายปี 2022 ระหว่างการขุดหลุมฝังศพใกล้กับเมืองไทริฟยอร์ด ทางตะวันตกของออสโล นักโบราณคดีได้ตั้งชื่อหินจารึกนี้ว่า “หินสวินเยรูด (Svingerud)” ตามชื่อสถานที่ที่ค้นพบ

จากการประเมินร่วมกับสิ่งของอื่น ๆ ในหลุม เช่น อัฐิ ทำให้คาดว่าหินอักษรรูนนี้น่าจะถูกจารึกขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1 ถึง ค.ศ. 250 ซึ่งจะถือว่ามีความเก่าแก่กว่าหลักฐานอื่นที่เคยพบมาก

จารึกหินสวินเยรูดนี้มีขนาด 31 ซม. คูณ 32 ซม. มีการสลักอักษรรูนไว้ 8 ตัวเป็นคำว่า “อิดิเบรุก (Idiberug)” ซึ่งนักโบราณคดียังไม่ทราบความหมาย โดยอาจเป็นชื่อของผู้หญิง ผู้ชาย หรือสกุลครอบครัวก็ได้

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก Getty Image

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร