วันพระ แรม 15 ค่ำ เดือนยี่ (2) คู่พระอัครสาวกออกบวช

406
views

วันพระ วันแรม 15 ค่ำ เดือนยี่ (2) ในสมัยพุทธกาลคือวันที่คู่พระอัครสาวกออกบวช พระอัครสาวกทั้งสองในพระพุทธศาสนาคือพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เป็นเลิศด้านปัญญา และพระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้เปี่ยมฤทธิ์ แต่ก่อนท่านทั้งสองจะออกบวชนั้นก็ได้เป็นสหายสนิทกันตั้งแต่เด็ก พระสารีบุตรมีนามว่าอุปติสสะ ส่วนพระมหาโมคคัลลานะมีนามว่าโกลิตะ

วันหนึ่ง ขณะที่ทั้งสองคนไปเที่ยวงานมหรสพก็บังเกิดความสังเวชใจ เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาระของชีวิต จึงพร้อมใจกันออกเดินทางหาโมกขธรรม อุปติสสะและโกลิตะจึงออกบวชในสำนักของอาจารย์สัญชัย เวลัฏฐบุตร พร้อมสหายมาณพอีก 250 คน บวชได้ไม่นานก็มีความรู้ทัดเทียมอาจารย์ เมื่อเห็นว่าความรู้ในสำนักนี้มีเท่านี้ ทั้งสองคนจึงออกเดินทางแยกย้ายกันไปหาโมกขธรรม โดยสัญญาว่าหากใครพบก่อนให้รีบมาบอกอีกฝ่าย

ครั้นอุปติสสะเข้าไปใน นครราชคฤห์ ก็ได้พบกับพระอัสสชิ หรือ พระอัสสชิเถระ เป็นพระภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์องค์ที่ห้า ที่เพิ่งบวชได้ไม่นาน ก็เกิดความชื่นชม ท่วงท่า อากัปกิริยา สงบเสงี่ยม หมดจดงดงาม…น่าเลื่อมใส หลังจากเข้าไปถามธรรมของพระศาสดาจากพระอัสสชิ “อาจารย์ท่านเป็นใคร อาจารย์ท่านสอนอะไร”

เย ธัมมา เหตุปัปพวา เตสัง เหตุ ตถาคโต เตสัญจ โย นิโรโธ จ เอวัง วาทีมหาสมโณ

ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคตกล่าวถึงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างนี้

อุปติสสะ นั้นเป็นสุดยอดปราชญ์ ฟังแค่นี้ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน

เมื่อบรรลุแล้วอุปติสสะจึงเดินทางไปหาโกลิตะสหายรักตามสัญญาและได้กล่าวคาถาเดียวกับที่พระอัสสชิกล่าว มีเย ธัมมา เหตุปปภวา.. เป็นต้นทำให้โกลิตะบรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นเดียวกัน สองสหายจึงตกลงกันว่าจะไปชักชวนสหายทั้ง 250 และอาจารย์สัญชัยไปบวชยังสำนักของพระพุทธเจ้าด้วยกัน แต่สัญชัยปริพาชกกลับปฏิเสธคำชวนถึง 3 ครั้ง สองสหายจึงนำเพื่อนอีก 250 คน ออกจากสำนักสัญชัย เดินทางไปหาพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนาราม

พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นทั้งสองสหายเดินมาแต่ไกล ก็รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “สหายสองคนนี้คือ โกลิตะและอุปติสสะกำลังมานั่น จักเป็นคู่สาวกของเรา จักเป็นคู่อันเจริญชั้นเยี่ยมของเรา” ครั้นสองสหายถึงวิหารแล้วได้กราบทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา … “พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า “ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” ให้อุปติสสะ โกลิตะ และสหายอีก 250 ได้กลายเพศเป็นสมณะด้วยกันทั้งหมด

ด้วยความที่อุปติสสะเป็นบุตรของนางสารีพราหมณี จึงได้ชื่อว่าพระสารีบุตร ส่วนโกลิตะนั้นเป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณี จึงได้ชื่อว่าพระมหาโมคคัลลานะ บำเพ็ญความเพียรได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนอุปติสสะซึ่งอุปสมบทเป็นพระสารีบุตรอุปสมบทได้ 15 วัน จึงสำเร็จพระอรหันต์

ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย (ทุติยสาวก) เลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์

นับแต่นั้นเป็นต้นมาสองอัครสาวกนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล ด้วยปัญญาอันยิ่งของพระสารีบุตรที่สามารถข่มปรัปวาทของเหล่าเดียรถีย์ได้อย่างหมดจด ทั้งยังสาธยายธรรมให้พิสดารลึกซึ้ง และยังเป็นต้นแบบของการจัดสรรธรรมออกเป็นหมวดหมู่ และด้วยฤทธิ์อันมหาศาลของพระมหาโมคคัลลานะที่ใช้ปราบอมนุษย์ เดียรถีร์ ให้เกรงกลัว หรือให้หันมามีใจเลื่อมใสนับถือพระพุทธศาสนา

ด้วยในโอกาสวันที่พระอัครสาวกทั้งสองออกบวช เมื่อกึ่งพุทธกาลผ่านมาแล้ว ก็ขอใช้ช่วงเวลานี้แสดงความเคารพในคุณของพระอัครสาวกทั้งสองนั้น ด้วยเศียรเกล้า

เรียบเรียง/อ้างอิง – ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร