ความไม่ประมาท เป็นหลักธรรมสำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา

387
views
ความไม่ประมาท

เมื่อพระพุทธองค์ใกล้จะเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้รับสั่งเป็นปัจฉิมวาจา ซึ่งเป็นพระวาจาสุดท้ายก่อนปรินิพาน ความว่า :
“หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว, วยธมฺมา สงฺขารา, อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”
แปลความว่า :
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอพูดกับเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวในหนังสือเรื่อง จาริกบุญ จาริกธรรม (หน้า 265) ไว้ว่า :
“พระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พระองค์ตรัสปัจฉิมวาจานี้ไว้ เราจะต้องให้ความสำคัญเหมือนกับเป็นวาจาสั่งเสียของพ่อแม่ เพราะทรงเป็นพระบิดาของพระศาสนาทั้งหมด วาจาที่ตรัสเตือนให้ไม่ประมาทนี้ จะต้องนำมาประพฤติปฏิบัติกันอย่างจริงจัง”
อันที่จริงปัจฉิมวาจาของพระพุทธองค์นั้น ทรงเตือนในหลักธรรมสองประการ ประการแรกคือความว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา” ซึ่งหมายถึงหลักอนิจตา คือความเป็นของไม่เที่ยง หรือภาวะที่สังขารทั้งปวงเป็นสิ่งไม่เที่ยงไม่คงที่
ส่วนหลักธรรมประการที่สอง คือความไม่ประมาท

อันที่จริงเมื่อพิจารณาให้ดี จะเห็นได้ว่า หลักธรรมทั้งสองประการนี้มีความเกี่ยวพันกันอยู่ กล่าวคือ เมื่อเรารำลึกอยู่เสมอว่า สรรพสิ่งและสภาวะต่างๆ ล้วนไม่เที่ยง ล้วนไม่คงที่
ฉะนั้นเราอย่าตั้งอยู่ในความประมาท เพราะความประมาททำให้ยึดติดมั่นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมั่นคงแน่นอนทั้งนั้น ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลงและดับสูญไปในที่สุด
แท้แต่พระพุทธองค์ก็ต้องทรงอยู่ภายใต้หลักของสังสารวัฏ ต้องทรงชรา ทรงอาพาธ และต้องปรินิพพานในที่สุด
ความประมาท จึงเป็นความยึดถือติด ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง คิดเสียว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมคงที่
พระพุทธองค์จึงทรงเตือนก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า อย่าตั้งอยู่ในความประมาท เพื่อจะได้เห็นถึงลักษณะของความเป็นอนิจจัง คือความไม่คงที่ของสังขารทั้งหลาย
พระพุทธศาสนา เน้นเป็นอย่างยิ่งถึงเรื่อง ความไม่ประมาท วิธีให้เกิดความไม่ประมาทนั้นก็คือการมีสติ
คำว่า “สติ” หมายถึงความรำลึกได้ นึกได้ การคุมจิตไว้ในกิจที่เรากำลังกระทำ ถ้าเรามีสติเสียแล้วก็ย่อมไม่เผลอตัว หลงผิดยึดมั่นถือมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งมั่นคงแน่นอน
ท่านติช นัท ฮันห์ พระเวียดนามในนิกายเซ็น จึงเรียกสติว่า เป็นการตื่นอยู่เสมอ
ท่านบอกว่า แม้เวลากินส้มหรือล้างจาน ก็ให้กำหนดจิตให้อยู่ที่การปอกเปลือก การแกะกลีบส้ม การเอาส้มเข้าปาก การเคี้ยว และการกลืนส้มในที่สุด หรือในการล้างจานก็ให้กำหนดจิตอยู่ตามขั้นตอนต่างๆ ของการทำความสะอาดจานชาม
ท่านเรียกการมีสติ คือการตื่นอยู่เสมอ กล่าวคือให้มีสติในทุกกิริยาของชีวิตทีเดียว
เมื่อคนเรามีสติในการกระทำต่างๆ เสียแล้ว เราสามารถดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาทได้
เราสามารถมองเห็นบทบาทของสติและความไม่ประมาทในการข้ามถนน
ทุกวันนี้คนเดินข้ามถนนในกรุงเทพฯ ต้องเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้นอกจากการจราจรจะคับคั่งแล้ว การขับรถบนถนนในกรุงเทพฯนั้น ผู้ขับขี่มักไม่มีความระมัดระวังหรือคำนึงถึงความปลอดภัยของคนเดินข้ามเลย ฉะนั้นคนข้ามถนนต้องไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ด้วยการมีสติในการเดินข้าม จึงรอดพ้นการถูกรถชนไปได้
คนข้ามถนน ต้องมีสติ หรือตื่นอยู่เสมอ ดูซ้ายดูขวาให้ดี เห็นพอมีช่องว่างและมีระยะพอข้ามไปได้ จึงเดินข้าม อย่างนี้เรียกว่า ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทในการเดินข้ามถนน
ตรงกันข้าม ถ้าเดินข้ามหรือวิ่งข้าม ไม่มองตาม้าตาเรือ ก็มีหวังถูกรถชนต้องบาดเจ็บล้มตายแน่นอน เพราะขาดสติ เรียกว่าเป็นการตั้งอยู่ในความประมาทในการเดินข้ามถนน
การฝึกจิตให้มีสมาธิ หรือเป็นจิตที่ตื่นอยู่เสมอ เรียกว่าสมาธิ หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Concentration
เวลาฝึกสมาธิในบ้านเรา นิยมให้กำหนดจิตตามลมหายใจเข้าตามลมหายใจออกตลอดเวลา หรือจะฝึกสมาธิด้วยการเดินก็ได้ ก้าวเท้าซ้าย ก็ให้รู้ว่าได้ก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวา ก็ให้รู้ว่าได้ก้าวเท้าขวา นี่ก็คือการฝึกเดินจงกรม เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ท่านติช นัท ฮันห์ ให้กำหนดจิตให้รู้ตัวทุกขั้นตอนของทุกกิริยาบทก็ว่าได้ เป็นการกำหนดจิตให้ตื่นรู้ตัวอยู่เสมอ ก็เช่นเดียวกันนั่นเอง
การฝึกจิตให้ตื่นอยู่เสมอ เป็นการฝึกให้จิตได้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ใช้ได้กับการดำรงชีวิตทั่วๆ ไปได้ด้วย
ไหนๆ ได้พูดมาถึงแค่นี้แล้ว ขอออกนอกเรื่อง แต่เกี่ยวข้องกัน เรียกว่าออกไปอีกสักหน่อยก็คงได้!
คู่กับคำว่า สมาธิ มีคำว่า วิปัสสนา คำนี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Meditation
วิปัสสนาเป็นเรื่องที่เกิดหลังจากมีสมาธิแล้ว จึงมักใช้ต่อเนื่องกันเป็นสมาธิวิปัสสนา
วิปัสสนาเป็นการฝึกอบรมทางปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้งชัดของสภาวะความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นการพิจารณาด้วยปัญญา ถึงลักษณะไตรลักษณ์ของเบญจขันธ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
การฝึกสมาธิ มีประโยชน์ แม้แต่การดำรงชีวิตของมนุษย์ปุถุชนธรรมดา เป็นการผึกให้ตัวเองตื่นอยู่เสมอ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท
แต่เมื่อก้าวถึงขั้นวิปัสสนาแล้ว หมายถึงการแสวงหาทางปัญญา ให้เกิดความเข้าใจถึงพื้นฐานสำคัญของชีวิต ว่าไม่มีความมั่นคงแน่นอน มีแต่ความเปลี่ยนแปลงและปวดร้าว และไม่มีตัวตนให้ยึดถือเป็นจริงจัง เป็นการพิจารณาด้วยปัญญาเพื่อความหลุดพ้นทีเดียว
ออกนอกเรื่องไปมากแล้ว ขอวกกลับมาเรื่องความไม่ประมาท
พระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่การไม่ตั้งอยู่ในความประมาท
ในเรื่องเบญจศีล หรือศีลห้านั้น ท่านบัญญัติไว้ในศีลข้อที่ห้า ห้ามไม่ให้ดื่มน้ำเมา เพราะท่านเห็นว่าการดื่มสุรา ย่อมทำให้เกิดอาการมึนเมา ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ตั้งอยู่ในความประมาท
คนเราเมื่อเมาแล้วย่อมขาดความยั้งคิด สามารถประพฤติปฏิบัติในสิ่งนอกลู่นอกทางได้ เพราะขาดสติ พอสร่างเมาแล้ว บางทีก็ได้คิด เกิดความเสียใจในสิ่งที่ได้กระทำไปในเวลามึนเมา
สมัยนี้มีการรณรงค์เพื่อรักษาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินในการจราจร มีคำขวัญว่า “เมาแล้วไม่ขับ!”
ก็เป็นเรื่องตรงกับหลักของพระพุทธศาสนา อันที่จริงการรณรงค์เรื่อง “เมาแล้วไม่ขับ” จึงเป็นเรื่องความไม่ตั้งอยู่ในความประมาทนั่นเอง
มีพุทธภาษิตบทหนึ่ง ความว่า “ปมาโท มจฺจุโน ปทํ” แปลความว่า “ความประมาทเป็นหนหางแห่งความตาย”
การตั้งอยู่ในความประมาท ปรากฏในรูปแบบต่างๆ กันมากมาย
การหลงตน คือการคิดว่าตนเก่งหรือวิเศษกว่าคนอื่น ก็เป็นการตั้งอยู่ในความประมาทประการหนึ่งเหมือนกัน
เป็นการคิดว่าไม่มีใครหรือฝ่ายอื่น มีความสามารถเท่าเทียมตนได้! เห็นคนอื่นโง่หรือมีความสามารถสู้ตนไม่ได้ เหล่านี้ล้วนเป็นอาการของคนหลงตัวเอง เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาททั้งนั้น
อาการอีกอย่างหนึ่งของคนตั้งอยู่ในความประมาท มักเป็นคนพูดมาก พูดโดยไม่ยั้งคิด ไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนจึงพูด รู้อะไรได้ คิดอะไรได้ ก็โพล่งออกมา
คนอย่างนี้ไม่ใช่คนตรงไปตรงมา ใจคิดอะไร ปากก็พูดไปอย่างนั้น!
แท้ที่จริงคนเช่นนี้ เป็นคนตั้งอยู่ในความประมาท ไม่รู้จักยั้งคิด พิจารณาเสียก่อนว่า อะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด ต่างหาก!
ครั้งหนึ่ง ผมไปหาท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่บ้านท่าน มีฝรั่งคนหนึ่ง คงรู้จักท่านมาก่อนมาหา ได้คุยกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถึงเรื่องศาสนาและปรัชญา ผมก็นั่งฟัง
ตอนหนึ่งฝรั่งคนนั้นบอกว่า คนเป็นคริสต์ศาสนิกชนก็คือคนที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า เขาตั้งคำถามว่า จะพรรณนาอย่างไรสั้นๆ ให้ได้เห็นลักษณะสำคัญของพุทธมามกะ?
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ หยุดคิดสักครู่หนึ่งแล้ว ท่านตอบฝรั่งคนนั้นเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งผมได้เขียนจดเอาไว้ ท่านบอกว่า “A Buddhist is a man who hopes for the best and prepares for the worst.”
แปลว่า “พุทธมามกะคือ ผู้ที่หวังผลเลิศทุกประการ แต่ก็เตรียมรับผลร้ายที่สุดทุกประการเหมือนกัน”
คำพูดของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ดังกล่าวนี้ ก็คือคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่สอนให้คนไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ต้องเตรียมรับเหตุการณ์ทั้งดีทั้งร้าย
บทความนี้เป็นเรื่องแรกของพุทธศักราช 2548
จึงขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัยและมวลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบความสุขเจริญทุกประการตลอดปีใหม่นี้

ธรรมะ สอนใจ ภาพ – ผลงานอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร