เฟซบุ๊ก เอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม ได้โพสต์ข้อควรระวังเกี่ยวกับพยาธิชอนไชเอาไว้ว่า
ต้องทำอย่างไรเมื่อลูกมีรอยนูนหลังจากเล่นดิน
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านกังวลและตกใจที่อยู่ ๆ ลูกรักมีรอยนูนคดเคี้ยวขึ้นพร้อมอาการคัน
นั่นเพราะว่าลูกท่านกำลังมีอาการของโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) โรคนี้พบมากในเขตร้อน เช่น เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อาฟริกา อเมริกาใต้ เป็นต้น
สาเหตุเกิดจากอะไร และคุณพ่อคุณแม่ควรทำเช่นไรบ้าง
โรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อนของสัตว์ อาทิ พยาธิปากขอของแมวและสุนัข Ancylostoma braziliense (พบบ่อยที่สุด), A. caninum, A. ceylanicum, A. tubaeforme, Uncinaria stenocephala, Bunstomum phlebotomum พยาธิเส้นด้ายของสัตว์ Strongyloides papillosus (พยาธิของแพะ แกะ วัว), S. westeri (พยาธิของม้า) พยาธิระยะตัวอ่อนจะไชเข้าตามผิวหนังของเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นดินหรือทราย โดยสามารถไชผ่านเสื้อผ้าบางๆ เช่นชุดว่ายน้ำได้
พยาธิระยะตัวอ่อนจะหลั่งเอ็นไซม์เพื่อไชผ่านผิวหนังปกติ ผิวหนังที่เป็นแผล หรือไชเข้ามาตามรูขุมขน มาอยู่ในชั้นหนังกำพร้า แต่ไม่สามารถไชผ่านหนังแท้ได้ ผิวหนังจะมีการอักเสบ บวมน้ำ มีเม็ดเลือดขาวมาคั่งอยู่ ทำให้เกิดผื่นมีลักษณะเป็นเส้นนูนสีแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่พยาธิไชผ่าน กว้าง 2-3 มิลลิเมตร คดเคี้ยวไปมา ผื่นอาจมีความยาวได้ถึง 15-20 เซนติเมตร
พยาธิไม่สามารถเจริญเป็นระยะตัวแก่ในร่างกายคนได้ เนื่องจากคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเจริญเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงเดินทางไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังจนในที่สุดพยาธินั้นจะตายไปเอง
การรักษา
ถ้าไม่รักษาผื่นอาจหายได้เองภายใน 4 สัปดาห์- 2 ปี ยาที่ใช้รักษา คือ Ivermectin, Albendazole
การป้องกัน
อย่าเดินเท้าเปล่า นั่งหรือใช้มือสัมผัสดินที่สงสัยว่าปนเปื้อนมูลสัตว์ งดการสัมผัสน้ำขัง ถ่ายพยาธิในแมวและสุนัขเพื่อไม่ให้มีการแพร่พยาธิสู่ดิน
เรื่องนี้ฝากเป็นอุทาหรณ์สำหรับพ่อเเม่ที่ปล่อยให้ลูกเล่นดินบ่อย ๆ หมั่นสังเกตสถานที่ด้วยสักนิดนะคะ ว่าตรงนั้นจะมีการปนเปื้อนมูลสัตว์ที่สะสมไหม เพื่อป้องกันการเกิดพยาธิชอนไช เเละอย่าลืมให้ลูกล้างมือล้างเท้าให้สะอาดหลังเล่นดินด้วยนะคะ