ตักบาตร ห้อยพระ ทอดผ้าป่า…แต่ไม่ปรารถนานิพพาน

1959
views
นิพพาน

เมื่อพูดเรื่องนิพพาน หลายคนตั้งคำถามว่า ชาวพุทธในประเทศไทยมีชีวิตใกล้ชิดพระพุทธศาสนามาก เราทำบุญ ตักบาตร แขวนพระ แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมชาวพุทธไทยจึงไม่ปรารถนานิพพาน มิหนำซ้ำยังมองว่านิพพานเป็นเรื่องไกลตัวและน่ากลัวไปเสียอีก

ธรรมโอสถ

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อพูดถึงความสุข ซึ่งพระพุทธศาสนาจะใช้คำว่า “ประโยชน์” นั้น แบ่งออกเป็นประโยชน์ขั้นต้น คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือประโยชน์ปัจจุบัน ได้แก่ ทรัพย์สมบัติ สุขภาพ การงาน มิตรภาพ ครอบครัว ชื่อเสียง ฐานะ ประโยชน์หรือความสุขทางโลกเหล่านี้ พระพุทธศาสนาไม่ปฏิเสธ แต่พระพุทธศาสนาก็สอนว่ามีความสุขที่สูงกว่านั้น คือ สัมปรายิกัตถะ หรือประโยชน์ขั้นสูง หมายถึงความสุขทางใจ อันเกิดจากการทำความดี สร้างบุญกุศล รวมไปถึงความสุขในภพหน้า ส่วนนิพพานคือประโยชน์ขั้นสูงสุด หรือ ปรมัตถะ

อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาที่สอนกันในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีการศึกษา จะเน้นประโยชน์ในชาตินี้หรือทิฏฐธัมมิกัตถะเป็นสำคัญ ถ้าศึกษาประวัติพระพุทธศาสนาจะพบว่ามีการเปลี่ยนแนวการสอนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ โดยเฉพาะเมื่อพระพุทธศาสนาได้พบวิทยาศาสตร์

พุทธศาสนา

วิธีที่จะทำให้พระพุทธศาสนาอยู่ได้ในโลกวิทยาศาสตร์คือ ลดความสำคัญเรื่องชาติหน้า นรกสวรรค์ จนในที่สุดคำสอนเรื่องนิพพานก็เลือนหายไปด้วย เพราะว่าพิสูจน์ไม่ได้ แต่หันไปเน้นความสุขในโลกปัจจุบัน ซึ่งพิสูจน์และจับต้องได้แทน ตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา การให้พรจะเน้น ความมั่งมีศรีสุข และอายุ วรรณะ สุขะ พละเป็นหลัก แม้กระทั่งคำขานนาคตอนบวชพระก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีข้อความเป็นภาษาบาลีแปลว่า”เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นที่ออกไปจากทุกข์ทั้งปวง” ก็ถูกตัดทิ้งโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เทียบเท่าตำแหน่งสังฆราช) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ – ๖ โดยให้เหตุผลว่า สมัยนี้คนไม่ได้บวชเพื่อนิพพานแล้ว ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาสอนกันแต่เรื่องความสุขในชีวิตนี้มาโดยตลอด

เทียนพรรษา

เมื่อไม่สอนเรื่องนรกสวรรค์ นิพพานก็พลอยหายไปด้วย ชาวพุทธไทยเชื่อเรื่องนรกสวรรค์น้อยลง นิพพานยิ่งไม่เชื่อใหญ่เลย เพราะเห็นว่านิพพานเป็นสิ่งไกลตัวมาก เป็นไปไม่ได้สำหรับคนยุคนี้ ก็จะสนใจแต่เฉพาะความสุขในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าเวลาขอพรก็จะขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ อาจมีปฏิภาณ ธนสารสมบัติเพิ่มเข้ามา แต่ข้อความว่า “นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ” (ขอให้ผลบุญนี้จงเป็นปัจจัยเพื่อบรรลุนิพพาน) นั้นหายไป

จะกล่าวว่าชาวพุทธไทยเรามีความเข้าใจที่จำกัดก็ได้ แต่สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงด้านคำสอนดังที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ แม้แต่ในหมู่พระก็ไม่ค่อยสอนกัน ยิ่งพระที่เรียนมาทางปริยัติธรรมจะไม่เน้นเรื่องปรมัตถ์ พระจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าคนที่บรรลุนิพพานนั้นไม่มีแล้ว แม้แต่รัชกาลที่ ๔ เองยังตรัสถึงคนที่ “ได้มรรคผลรู้พระนิพพานว่า” ว่า “ทุกวันนี้ไม่มีคนเช่นนั้นแล้ว” อันนี้เป็นความเชื่อของชนชั้นนำสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ เพราะแม้แต่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ซึ่งเป็นผู้รู้คนสำคัญในสมัยนั้นก็พูดว่า “ทุกวันนี้พระอริยบุคคลที่จะเป็นเนื้อนาบุญไม่มีแล้ว” ด้วยเหตุนี้การสอนพระพุทธศาสนาให้แก่คนมีการศึกษานับแต่ยุคนั้นมาจะไม่เน้นเรื่องนิพพานหรือปรมัตถธรรม แต่เน้นความสุขในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสอนพระพุทธศาสนาที่แตกต่างจากทางพม่าและศรีลังกา

บุญ บาป

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้คนไม่ปรารถนานิพพานคือ ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ ๕๐ – ๖๐ ปีที่แล้ว และมีอิทธิพลต่อเมืองไทยหนักกว่าพม่าและศรีลังกา ลัทธิบริโภคนิยมกระตุ้นให้คนเกิดความอยาก อยากบริโภค อยากรวย อยากมั่งอยากมี จึงตั้งความหวังและเรียกร้องจากพระพุทธศาสนาให้ตอบสนองความอยากดังกล่าว ขณะเดียวกัน พระจำนวนมากก็ตอบสนองความต้องการด้านนี้ด้วย เช่น ให้ความหวังว่าถ้าทำบุญมาก ๆ ก็จะร่ำรวย มีการปลุกเสกวัตถุมงคลเพื่อให้ทำมาค้าขึ้น หรือให้ความหวังว่า “บ้านนี้อยู่แล้วรวย”

พูดง่าย ๆ ว่า ฆราวาสก็คาดหวังความมั่งมีศรีสุขจากพระพุทธศาสนา ส่วนพระพุทธศาสนาก็พยายามสนองความต้องการดังกล่าวจนกระทั่งผู้คนลืมนิพพานไปเลย แต่ช่วงหลัง ๆ หลวงปู่มั่น หลวงพ่อพุทธทาสได้พยายามรื้อฟื้นคำสอนเรื่องนิพพานให้กลับมา แม้กระนั้นก็ยังไม่ใช่กระแสหลักอยู่ดี กระแสหลักก็คือการทำบุญและสะเดาะเคราะห์แก้กรรมเพื่อหวังให้อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย ไม่ได้นึกถึงนิพพานแต่อย่างใด

พระไพศาล วิสาโล
ตักบาตร ห้อยพระ ทอดผ้าป่า…แต่ไม่ปรารถนานิพพาน โดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร