ความเชื่อของพุทธศาสนิกชนเถรวาท ในจักรวาลวิทยาของศาสนาพุทธ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ยังมี “ปูชนียสถาน” อีกแห่งหนึ่งอยู่นอกเมืองออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือ “พระจุฬามณีเจดีย์” หรือจุฬามณีเจดีย์สถาน ที่บรรจุพระจุฬาพระโมลีและพระเขี้ยวแก้วของพระโคตมพุทธเจ้า
จุฬามณีเป็นชื่อพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศธาตุ คือมวยพระเกศาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดเมื่อครั้งเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือออกบวช และพระทาฒธาตุ คือพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนด้านขวาของพระพุทธเจ้า.
จุฬามณีเจดีย์อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้พระธรรมปรีชา (แก้ว) เจ้ากรมอาลักษณ์เรียบเรียงขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๔๕ กล่าวว่า พระจุฬามณีเจดีย์นี้ พระอินทร์เป็นผู้สร้าง มีความสูงโยชน์หนึ่ง บรรจุพระจุฬามณีและพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า.
พระเขี้ยวแก้วนี้ เดิมโทณพราหมณ์ ผู้ทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะของตน พระอินทร์ทรงเห็นว่าควรนำพระเขี้ยวแก้วนี้ไปไว้ในที่เหมาะสม เพื่อให้เหล่าเทวดาได้สักการบูชา จึงนำไปประดิษฐานไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์.
องค์เจดีย์เป็นแก้วอินทนิล ส่วนตั้งแต่กลางองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงยอดเป็นทองคำประดับด้วยแก้วเจ็ดประการ พระเจดีย์ล้อมรอบด้วยกำแพงทอง ปักธงและฉัตรสีต่างๆ เป็นเงินเป็นทองก็มี หรือสีดำ แดง เหลือง ขาว เขียว ตามแต่สีของแก้วที่ผูกไว้
บรรดาเทวดาทั้งหลายจะนำเอาเครื่องดนตรีดีดสีตีเป่ามาบรรเลงบูชาถวายพระเจดีย์ไม่เว้นวัน รวมถึงพระอินทร์พร้อมด้วยเหล่าเทพยดานางฟ้าบริวาร ก็จะเสด็จไปนมัสการพระเจดีย์ทุกวัน และนำข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องหอม ประทีป ไปบูชา รวมถึงกระทำประทักษิณรอบพระเจดีย์เสมอ
คนไทยโบราณนับถือกันว่าพระจุฬามณีเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุอันแท้จริง จึงมีคติกันว่าให้คนเจ็บหนักใกล้ตาย ตลอดจนเมื่อแต่งตัวศพ ให้พนมมือถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนติดตัวไว้ เพื่อจะได้ไปนมัสการพระจุฬามณีบนสวรรค์ดาวดึงส์ยามเมื่อล่วงลับ