วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน” ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น “วันปิยมหาราช”
วิธีการสักการะองค์เสด็จพ่อ ร.5 ควรบูชาในวันอังคารและวันพฤหัสบดี และหลายคนมีความเชื่อเรื่องหากบูชาเสด็จพ่อ ร.5 แล้วนั้น จะส่งผลทำให้ทำมาค้าคล่อง มีความสุขความเจริญ ตำแหน่งหน้าที่การงานก้าวไกล ให้มีโชคลาภในการประกอบอาชีพ ปลดหนี้ได้ และมีเมตตามหานิยม
พระคาถาบูชารัชกาลที่ 5 (แบบย่อ)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
พระสะยามะมินโท วะโร อิติ พุทธะสังมิ อิติ อะระหัง สะหัสสะกายัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ”
พระคาถาบูชารัชกาลที่ 5 (แบบเต็ม)
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ พระสะยามะมินโท วะโร อิติ พุทธะสังมิ อิติ อะระหัง สะหัสสะกายัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ มาสีสะมานัง
เครื่องสักการะ เสด็จพ่อ ร.5
สิ่งที่พระองค์โปรด คือ น้ำมะพร้าวอ่อน, กล้วยน้ำว้า, ทองหยิบ, ทองหยอด, บรั่นดี, ซิการ์, ข้าวคลุกกะปิ และดอกกุหลาบ หรือดอกไม้สีชมพู เพราะถือว่าเป็นสีที่ตรงกับวันพระราชสมภพ นอกเหนือจากสิ่งของที่นำมาสักการะแล้ว ของที่นิยมอีกอย่าง ก็คือ หญ้าสดใหม่ เพื่อนำมาถวายแก่ม้าพระที่นั่ง
วันที่ควรบูชา คือวันที่ 23 ตุลาคม (วันปิยมหาราช – วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) หรือวันอังคารซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ และวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันครูหรือในวันพระ แต่ในวันพระให้ยกเว้นเครื่องสักการะที่เป็นอบายมุข จำพวก บุหรี่ เหล้า