พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบบุคคล เหมือนดอกบัว ๓ เหล่า หรือ ๔ เหล่ากันแน่?

424
views

พระพุทธเจ้าแบ่งดอกบัวออกเป็น ๓ เหล่า ว่าด้วยบุคคล ๔ ประเภท

มีคนมาถามว่าการที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบุคคลกับดอกบัวสี่เหล่านั้น มาจากพระไตรปิฎกเล่มไหน คำถามนี้ดูเหมือนกับว่าผู้ถามจะเชื่ออย่างสนิทใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบุคคลกับดอกบัวสี่เหล่าจริง ความเชื่อนี้ส่วนหนึ่งคงได้มาจากหลักสูตรนักธรรมชั้นโทเป็นแน่ เมื่อตอบไปว่าดอกบัวมีเพียงสามเหล่า คนถามแสดงอาการว่าเริ่มจะไม่เห็นด้วยกับคำตอบที่ได้รับ

เมื่อเห็นอาการจึงได้เปิดพระไตรปิฎกมาอ้างว่าที่มาของดอกบัวสามเหล่านั้นมาจากพระวินัยไตรปิฎก มหาวรรค(4/9/11) ความว่า..

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆนั้น ทรงเกิดวิตกว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมีความลึกซึ้งยากที่คนจะเข้าใจ จนกระทั่งท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมยังมีอยู่

ในตอนนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาสัตวโลกเปรียบด้วยดอกบัว ความว่า
พระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำทูลอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม และทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยก็มี มากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี มีอุปมาเหมือนดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุมที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ ● บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้ ● บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ ● บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้ว

จึงได้รับอาราธนาท้าวสหัมบดีพรหมเพื่อที่จะแสดงธรรมแก่สรรพสัตว์

ข้อความที่ปรากฎในพระวินัยตอนนี้ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่าคือบางเหล่าจมน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ

แต่คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบุคคลเหมือนกับดอกบัวสี่เหล่า เพราะในอีกพระสูตรหนึ่งได้แสดงว่า

ว่าด้วยบุคคลสี่ประเภท คือ

(1) อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแค่เมื่อท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
(2) วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
(3) เนยยะ ผู้พอแนะนำได้
(4) ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลสี่จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

ต้องแยกประเด็นกันระหว่าง ‘ดอกบัว ๓ เหล่า’ กับ ‘บุคคล ๔ ประเภท’ และเนื้อหาในพระไตรปิฎกไม่ได้เปรียบเทียบกันแต่อย่างใด แยกกันแสดงคนละครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน ส่วนการเปรียบเทียบกันนั้นมีปรากฎในอรรถกถาหลายครั้งหลายหน ดังที่แสดงในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๑๔๘ ได้เปรียบเทียบบุคคลสี่จำพวกกับดอกบัว ๔ เหล่าความว่า

“บุคคล ๔ จำพวกคืออุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ก็เปรียบเหมือนดอกบัว ๔ เหล่านั้นแล

(๑) อุคฆฏิตัญญู บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง
– ดอกบัวที่ตั้งขึ้นพ้นน้ำ รอสัมผัสแสงอาทิตย์ก็จะบานในวันนี้

(๒) วิปจิตัญญู บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร
– ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้

(๓) เนยยะ บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแยบคาย ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร
– ดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ ยังไม่โผล่พ้นน้ำจักบานในวันต่อๆ ไป

(๔) ปทปรมะ บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้นแม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก
– ดอกบัวจมอยู่ในน้ำที่กลายเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า

อีกแห่งหนึ่งมีคำอธิบายในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๕๒ ความว่า “ในดอกอุบลเหล่านี้ เหล่าใดขึ้นพ้นน้ำรออยู่เหล่านั้น คอยรับสัมผัสแสงอาทิตย์จะบานในวันนี้ เหล่าใดตั้งอยู่เสมอน้ำ เหล่านั้นก็จะบานในวันพรุ่งนี้ เหล่าใดจมเหล่านั้นก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ยังไม่ขึ้นสู่บาลีก็พึงแสดง

เหมือนกับว่า ดอกไม้สี่อย่างเหล่านั้นฉันใด บุคคลสี่จำพวกคืออุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ทั้งนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงดอกบัวไว้สามเหล่า แต่ได้แสดงบุคคลไว้สี่จำพวก เมื่อนำมาอธิบายเปรียบเทียบกับดอกบัว พระอรรถกถาจารย์เลยอาจจะเล็งเห็นว่าดอกบัวประเภทสุดท้ายคือประเภทที่สี่ ยังไม่ได้ผุดขึ้นมาจากดิน พระพุทธเจ้าจึงมิได้ยกขึ้นมาแสดงไว้ พระอรรถกถาจารย์เลยบอกไว้จากหลักฐานที่ว่า

‎ดอกบัวเหล่าใดจมก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านยังไม่ยกขึ้นสู่บาลี คำว่า “ไม่ยกขึ้นสู่บาลี” หมายถึงไม่ได้แสดงในพระไตรปิฎก ดังนั้นคนประเภทสุดท้ายคือผู้ที่สอนไม่ได้ก็เหมือนกับดอกบัวที่ยังไม่ได้เกิดนั่นแล

เพราะเหตุนี้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจคลาดเคลื่อนและแตกต่างกันออกไป

พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง ๐๒/๐๓/๕๓

โปรดแชร์เป็นธรรมทาน ดังพุทธพจน์ที่ว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
‎- การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง

บทความต้นฉบับ – เพจพุทธที่แท้จริง

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร