“สิ่งใดที่มนุษย์ทำได้เหมือนๆกับสัตว์ หรือสัตว์ทำได้เหมือนๆกับมนุษย์นั้น ไม่เป็นของแปลกเลย ดังที่ท่านได้ตรัสไว้เป็นหลักแต่โบ-รมโบราณ ก่อนพุทธกาลมาเสียอีกว่า…
“อาหารนิทฺทาภยเมถุนญจฺ” – การแสวงหาอาหารกิน การแสวงหาความสุขจากการนอน ความรู้จักขี้ขลาด วิ่งหนีอันตราย และ การประกอบเมถุนธรรม (ร่วมประเวณี)
“สามาญญเมตปฺปสภิ นรานํ” – ทั้ง ๔ อย่างนี้ มีได้เสมอกันในระหว่าง มนุษย์กับสัตว์
“ธมฺโม หิ เตสํ อธิโก วิเสโส” – ธรรมะเท่านั้น ที่จะทำความผิดแปลกแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์
“ธมฺเมน หีนา ปสุภิ สมานา” – เมื่อปราศจากธรรมะแล้ว คนกับสัตว์ก็จะต้องเหมือนกัน
นี้ล่ะ! ขอให้จำไว้เป็นหลักเสียครั้งหนึ่งก่อนว่า คนจะผิดจากสัตว์ หรือสัตว์จะผิดจากคน มันก็หยุดอยู่ตรงที่ จะมีธรรมหรือไม่? เท่านั้น จะเอาเรื่องอาหารการกิน การแต่งเนื้อแต่งตัว การเป็นอยู่เพื่อแสวงหาความสุขความเพลิดเพลิน ทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้นนั้น ไม่มีความแปลกแตกต่างอะไรกันระหว่างคนกับสัตว์
หมายความว่า แม้คนจะทำได้ดี วิจิตรปราณีตกว่าสัตว์ แต่ความหมายมันก็ยังเท่ากัน ไม่ได้แปลกแตกต่างกัน ท่านจึงลงมติกันไว้อย่างนั้น ว่าเอาธรรมะอย่างเดียวเท่านั้นมาเป็นเครื่องวัดความผิดแปลกแตกแต่งระหว่างคนกับสัตว์…
ถ้าจากปราศจากธรรมะเสียแล้ว แม้จะมั่งมี จะร่ำรวย จะอุดมสมบูรณ์สักเท่าไร ก็ย่อมจะหาความสุขไม่ได้ ตนเองก็มีจิตใจที่เร่าร้อน เผาตนเองให้เร่าร้อนอยู่เสมอ เกี่ยวกับคนอื่นก็เบียดเบียนซึ่งกันและกัน คือการเอาเปรียบ แข่งขันแย่งชิง กับความอิจฉาริษยา ซึ่งกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
นี่ก็เพราะขาดธรรมะอย่างเดียวเท่านั้น ตนเองก็อยู่ไม่เป็นสุข ผู้อื่นก็อยู่ไม่เป็นสุข จนได้ชื่อว่าเป็นโลกของความสับสนวุ่นวาย เป็นความทุกข์ร้อนระอุกันไปทั่วทุกหัวระแหง”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : มาฆบูชาเทศนา“ศีลธรรมกลับมาเถิด”
ปี ๒๕๑๔