“ไทรอยด์” (Thyroid Gland) เป็นต่อมไร้ท่อใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนและหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปทำหน้าที่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปธาลามัส ซึ่งการสร้างฮอร์โมนนั้นจำเป็นต้องใช้ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ หากได้รับไอโอดีนมากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้การทำงานผิดปกติและส่งผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกระบบในร่างกาย
ความสำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์ ส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้
● ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ
● สัมพันธ์กับการทำงานของสมองและระบบประสาท รวมถึงภาวะด้านอารมณ์
● ควบคุมระบบเผาผลาญและอุณหภูมิของร่างกาย
● ช่วยส่งเสริมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อ หัวใจ กระดูก
ทั้งนี้ หากร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงกว่าปกติ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น โดยภาวะนี้เรียกว่า “ไทรอยด์เป็นพิษ” ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
10 สัญญาณเตือนไทรอยด์ผิดปกติ
1. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของหัวใจ จะทำให้รู้สึกใจสั่นง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง
2. ผมร่วงผิดปกติ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้ผมเส้นบางและเล็กลง หลังจากนั้นจะร่วงง่าย
3. น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลง แบบผิดปกติ เพราะต่อมไทรอยด์ผิดปกติในลักษณะหลั่งฮอร์โมนออกมามากจะกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึมให้ขยันเกินไป ในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะพบว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนในไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย เนื่องจากการเผาผลาญต่ำลง
4. นอนไม่ค่อยหลับ ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักเกินไป ไทรอยด์ฮอร์โมนที่มีมากจะกระตุ้นการทำงานของระบบปราสาทส่วนกลาง ทำให้รบกวนการนอนได้
5. รู้สึกง่วงตลอดเวลา หากต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนจะส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น รู้สึกง่วงตลอดเวลา คิดช้า และไม่มีสมาธิ
6. รู้สึกหนาวตลอดเวลาหรือขี้ร้อนมากขึ้น ต่อมไทรอยด์ไม่หลังฮอร์โมนออกมาในปริมาณเพียงพอ ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ความร้อนในร่างกายก็จะลงน้อยลง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีอาการขี้ร้อน เหงื่อออกมากกว่าปกติ ส่วนภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีอาการขี้หนาวมากขึ้น
7. ตาโปน ในคนไข้โรคไทรอยด์เป็นพิษอาจมีอาการระคายเคืองตา น้ำตาไหลง่าย ดูคล้ายว่าตาโปน แต่จริงๆแล้วอาจเป็นเพราะหนังตาปิดตาขาวได้น้อยกว่าปกติ
8. ขับถ่ายไม่เป็นปกติ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลให้ลำไส้ทำงานหนักมากขึ้น ลำไส้เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ จึงขับถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ ในขณะที่ภาวะไทรอยด์ต่ำจะส่งผลตรงข้ามกันคือทำให้มีอาการท้องผูก
9. ประจำเดือนมาผิดปกติ ในผู้หญิงที่มีภาวะไทรอยด์สูงกว่าปกติหรือต่ำกว่าปกติ จะส่งผลให้เกิดประจำเดือนขาดหรือมามากผิดปกติได้ แต่เมื่อรักษาให้ฮอร์โมนไทรอยด์คงที่แล้วประจำเดือนก็จะเริ่มกลับมาปกติอีกครั้ง
10. ผิวแห้ง ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีระบบเผาผลาญทำงานได้ช้าลง ส่งผลให้ผิวแห้งมากขึ้นหรือเหงื่อลดน้อยลง
เครดิตแหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลเวชธานี, โรงพยาบาลบางปะกอก