หน้าที่สำคัญของตับ คือช่วยในการผลิตน้ำดี ซึ่งน้ำดีนี้ก็จะทำหน้าที่ไปย่อยอาหารประเภทไขมัน และจัดการกับสารพิษต่างๆ ที่ร่างกายรับเข้ามา แล้วขับออกจากร่างกายไม่ให้มีการตกค้าง และยังทำหน้าที่ผลิตสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ทำให้เลือดสามารถหยุดไหลได้เมื่อประสบเหตุต่างๆ คนที่ตับมีปัญหามักจะเริ่มจากอาการที่ไม่ได้บ่งบอกชัดเจนนัก เพราะฉะนั้น ต้องหมั่นคอยสังเกตตัวเองให้มาก
อาการที่บอกว่าคุณอาจเป็นโรคตับ
1.มีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ แต่มักจะรู้สึกง่วงในเวลากลางวัน รู้สึกเหนื่อยง่ายคล้ายคนไม่มีเรี่ยวแรง บางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหารร่วมด้วย และมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนเวลาทานอาหารแล้วไม่ย่อย รวมทั้งเรอบ่อยขึ้น
2.ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจขาดไปเลย หรือมาแบบไม่สม่ำเสมอ ทั้งที่ปกติไม่เคยเป็น ส่วนผู้ชายบางคนอาจมีอาการเต้านมขยาย มีอาการเจ็บที่เต้านม และบางคนอาจจะทำให้อัณฑะฝ่อตัว หรือสมรรถภาพทางเพศลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
3.อยู่ๆ มีอาการคันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพราะมีน้ำดีไปสะสมอยู่บริเวณผิวหนังส่วนนั้น เลยทำให้เกิดอาการคันตามตัวขึ้นมา
4.ตัวเหลือง ตาเหลือง คล้ายกับคนเป็นดีซ่าน เพราะตับไม่สามารถทำหน้าที่ขับน้ำดีออกจากตับได้ จนทำให้มีการแพร่กระจายไปที่ตา และร่างกายจนตัวเหลือง
5.มีอาการบวมเกิดขึ้นที่หลังเท้า แขนขา และหน้าท้อง เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนในเลือดได้นั่นเอง
6.เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น จะทำให้เลือดออกง่ายกว่าปกติ และไม่ยอมหยุดไหลง่ายๆ เพราะตับไม่สามารถสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้
7.บางรายที่เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดเพราะความดันในตับสูง จนทำให้หลอดเลือดดำในหลอดอาหารมีความดันสูง ซึ่งหากความดันสูงมากก็จะทำให้หลอดเลือดดำแตกได้
8.ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ทำให้เจ็บป่วย หรือติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
9.มีอาการปวดแน่นที่ชายโครง รู้สึกร้อนวูบที่ช่องอก รวมไปถึงมีอาการตึงที่กล้ามเนื้อช่องท้อง จนเป็นที่มาของอาการปวดท้องน้อย
10.ถ้าลองสังเกตบริเวณมุมปาก และริมฝีปาก จะเห็นว่ามีสีคล้ำผิดปกติ รวมไปถึงลิ้นก็จะออกสีม่วงคล้ำ และขอบลิ้นจะมีรอยกดทับของฟันด้วย
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอาการบางส่วนที่พอจะสังเกตได้ นอกจากนั้น บางคนยังรู้สึกเครียด ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย ขี้ลืม ซึ่งดูเผินๆ ก็เหมือนคนปกติทั่วไป ทั้งนี้อาจจะต้องวิเคราะห์หลายๆ ส่วนประกอบกัน ว่าตัวเองมีแนวโน้มจะเป็นโรคตับ หรือไม่ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยค้นหาสาเหตุจะดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน