ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช มาช้านาน เมื่อกล่าถึง “งานเดือนสิบ” แล้วใคร ๆ ก็นึกถึงเมืองนคร ลูกหลานชาวนครศรีธรรมราช ที่จากภูมิลำเนาไปอยู่ไกลบ้าน ไกลเมือง เมื่อถึงช่วง “เดือนสิบ” ก็จะเริ่มกลับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อร่วมงานประเพณีสารทเดือนสิบโดยทั่วหน้ากัน
ประเพณีสารทในพระพุทธศาสนา พบว่า มีกำเนิดจากความเชื่อเรื่องการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท บันทึกไว้ว่า
ครั้งหนึ่ง.. เปรตผู้เป็นญาติทั้งหลายจึงแสดงเสียงเสียงโอดครวญน่าสะพรึงกลัวก่อกวนพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ จึงได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระศาสดา และนิมนต์คณะสงฆ์ไปรับมหาทาน ที่พระราชนิเวศน์เพื่อทำพิธีอุทิศส่วนกุศลแก่หมู่ญาติของพระองค์ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระเจ้าพิมพิสาร ทรงถวายผ้าและไทยธรรมต่างๆ และทรงอุทิศพระราชกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
ในครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบันดาลให้พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร เห็นว่าหมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วนั้น อันได้ไปเกิดเป็นเปรต มีสภาพเช่นไร และหลังจากได้รับผลบุญที่อุทิศไปให้แล้วนั้นมีสภาพเป็นเช่นไร
และในขณะที่พระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกนั้น มีสระโบกขรณีที่เต็มไปด้วยดอกปทุมอันสวยงามได้บังเกิดขึ้น ทันใดเมื่อบรรดาเปรตเหล่านั้นได้ดื่มกินน้ำ ก็สามารถบรรเทาความกระหาย
ครั้นเมื่อได้อาบน้ำนั้น พลันให้ได้มีผิวพรรณเหลืองอร่ามดุจทองคำเนื้องาม ร่างกายที่ผิดปรกติพิกลพิการไม่สมประกอบ กลับคืนดังคนปกติ ครั้นเมื่อได้รับอาหาร คาว-หวานอันเป็นทิพย์ ก็ทำให้ร่างกายที่ผ่ายผอมนั้นกลับสมบูรณ์มีน้ำมีนวลขึ้น
จึงเป็นที่มาของการอุทิศส่วนบุญโดยมีน้ำกรวด
แต่ว่า เปรตเหล่านั้นก็ยังมิได้มีเครื่องห่อหุ้มร่างกายพระเจ้าพิมพิสารจึงได้กราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ควรจะทำประการใด
พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า ให้ถวายผ้าสบง จีวร และผ้านิสีทนะแด่พระภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้ฟังดังนั้นแล้ว ทรงรีบรับสั่งให้บริวารจัดหาผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้ารองนั่ง มาถวายแด่คณะพระภิกษุซึ่งมีพระบรมศาสดาเป็นประมุข จากนั้นแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงอุทิศผลบุญนี้แก่หมู่เปรต
ครั้นเมื่อเปรตทั้งหลายได้รับผลบุญแล้วเปล่งสาธุการออกมา จึงได้พากันเข้าไปอยู่ในวิมาน และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้เห็นอานิสงส์ของการทำทานและอุทิศส่วนกุศลผลบุญแก่หมู่ญาตินี้แล้วทรงมีความอิ่มเอม ยินดี เลื่อมใสและศรัทธาในการทำทานนี้มากยิ่งนัก
ในครั้งนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาอันปรากฏใน “ติโรกุฑฑสูตร” ตอนหนึ่งว่า ..
“อทาสิ เม อกาสิ เม ญาติมิตฺตา สขา จ เม เปตานํ ทกฺขิณํ ทชฺชา ปุพฺเพ กตมนุสฺสรํ ฯ”
” บุคคลมาระลึกถึงอุปการะที่ท่านผู้นี้ได้ทำให้แก่ตน ในกาลก่อนว่า ได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้ได้ทำกิจของเรา ผู้นี้เป็นญาติ เป็นมิตร เป็นเพื่อนของเรา ควรให้ทักษิณาทานเพื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว”
โดยความหมายนั้นคือ.. “เราควรระลึกถึงบุญคุณผู้ที่เคยมีอุปการคุณ อันได้แก่ บิดา มารดา หรือญาติมิตรผู้ล่วงลับ และควรได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่หมู่ญาติมิตรนั้นๆ โดยการให้ทักษิณาทาน”
เชื่อกันว่า เหล่าสัตว์นรกที่ได้เห็นพี่น้องลูกหลานของตน ทำบุญให้ทานรักษาศีลห้า ศีลแปด ตลอดจนได้บวชลูกหลานไว้ในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว ต่างก็พากันยินดีชื่นชมโสมนัส ครั้นแล้วต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการและประสาทพรแก่ลูกหลาน ขอให้มีความสุขความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ตัวอย่างอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาลได้แก่
พระสารีบุตรเถระ ได้สร้างกุฎี ๔ หลัง ถวายแก่สงฆ์พร้อมทั้งข้าวและนํ้า แล้วอุทิศส่วนบุญไปให้แก่เปรตที่เคยเป็นมารดา
นางติสสาอุบาสิกา ได้ถวายภัตตาหารและผ้าไตรจีวรแก่พระภิกษุ ๘ รูปแล้วอุทิศส่วนบุญไปให้แก่นางเปรต เป็นผลให้ผู้ที่ได้รับส่วนบุญพ้นจากความเป็นเปรตได้
โดยความเชื่อเรื่องบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่วิวัฒนาการมาจาก ประเพณี “เปตพลี” ของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ปฏิบัติต่อเนื่องมาในอินเดียก่อนสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์เห็นว่าเป็นประเพณีที่ดีงามจึงอนุญาตให้พุทธบริษัทปฏิบัติสืบเนื่อง
ต่อกันมา จึงก่อเกิดประเพณีและพิธีกรรม เพื่อให้มีพิธีการปฏิบัติเป็นแบบ ยึดถือตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น ความเชื่อเรื่องบุญสารทเดือนสิบจึงเป็นสื่อให้เกิดการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา
จนกลายเป็นประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณ หลังจากที่ตายไป เชื่อว่าผู้ทำกรรมใดย่อมได้รับกรรมนั้น ทำดีได้ขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตกนรก เป็นเปรต
ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะผลแห่งบาปที่ทำไว้และ ดำรงชีพอยู่ด้วยการอาศัยส่วนบุญจากการ การอุปการะของญาติพี่น้องหรือผู้อื่น ที่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ส่วนเดียว จึงจะมีความเป็นอยู่พออยู่ได้ ถ้าไม่มีใครอุทิศไปให้ก็ไม่ได้รับบุญ