ที่มาของ “เปรตเดือนสิบ” ลูกหลานชาวเมืองคอน สะท้อนภูมิปัญญาบรรพบุรุษ

4173
views
เปรตเดือนสิบ

ทำบุญเหอทำบุญวันสารท       ยกหฺมฺรับดับถาดไปร้องไปฮา
พองลาหนมแห้งตุ้งแตงตุ๊กตา ไปร้องไปฮา….สาเสดเวทนาเปรต….เหอ….

ตามตำนานชาวเมืองนครศรีธรรมราช มีความเชื่อตามหลักศาสนาว่าว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต และเมื่อถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่า “เปรต”

ตามความเชื่อจะถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้องที่อยู่บนโลกมนุษย์ และจะเดินทางกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ หากไม่มีใครทำบุญให้ “เปรต” เหล่านั้นก็จะสาปแช่งลูกหลานในตระกูลไม่ให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีความเจริญรุ่งเรือง

เนื่องจากถือว่าลูกหลานอกตัญญู ลูกหลานชาวเมืองนครศรีธรรมราชทุกคน จะถูกปลูกฝังและสั่งสอนให้ระลึกถึงงานบุญเดือนสิบ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่ม คนแก่และเด็กเล็ก ก็ต่างมีใจผูกพันระลึกถึงงานบุญเดือนสิบหรือ “ประเพณีชิงเปรต”

ชิงเปรต

ไม่ว่าลูกหลานชาวเมืองนครจะพลัดถิ่นจากบ้านไปทำมาหากินอยู่แดนไกลแห่งหนใด เมืองใดก็ตามแต่ เมื่อใกล้จะถึงเทศกาลเดือนสิบก็จะเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนครแทบทุกคนก็ว่าได้ เพื่อมาร่วมในเทศกาลงานบุญเดือนสิบด้วยความสำนึกที่ถูกปลูกฝังมาแต่เล็กแต่น้อย จนเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นมรดกทางวัฒนธรรม คู่บ้านคู่เมืองนครจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีเทศกาลงานเดือนสิบถือเป็นกุศโลบายและภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดของบรรพบุรุษ ที่จะสั่งสอนลูกหลานในสิ่งที่ควรยึดถือปฏิบัติ รวมทั้งปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติสืบทอดต่อๆไป ได้สำนึกถึงบาปบุญคุณโทษ รวมทั้งการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที ที่เป็นหัวใจสำคัญ ในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุขแยกประเด็นดังนี้

ชิงเปรต

๑. เพื่อให้ลูกหลานให้รู้สำนึกพระคุณบรรพบุรุษ ที่ได้อบรมเลี้ยงดูลูกหลานมาจนเติบใหญ่ เพื่อมีความกตัญญูกตเวทีและตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนควรมี

๒. ถือเป็นโอกาสได้รวมญาติครั้งใหญ่ ใครที่เดินทางไปอยู่ในที่ห่างไกล ก็จะได้กลับมาพบปะทำบุญร่วมกันสร้างความรักใคร่สนิทสนมสามัคคีกันในหมู่ญาติพี่น้อง

๓. เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับในปีนี้ไปร่วมทำบุญ เพราะเชื่อกันว่าการนำผลผลิตที่เริ่มออกผลไปทำบุญก่อนกินหรือขายเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

การตั้งเปรต

๔. ฤดูฝนในภาคใต้จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนสิบ พระสงฆ์บิณฑบาตลำบากการยกหฺมฺรับ จึงเป็นการจัดอาหารแห้งถวายพระทางวัดได้เก็บรักษาเป็นเสบียงสำหรับพระในฤดูฝน

๕. การจัดงานเฉลิมฉลองและสังสรรค์ รื่นเริงหลังเสร็จฤดูการผลิต ให้ทุกคนได้พักผ่อนหย่อนใจ และมีพลังในการทำงานและดำเนินชีวิตต่อไป

งานเดือนสิบ นครศรีธรรมราช

ดังนั้นในฐานะที่เราทุกคนเป็นอนุชนรุ่นหลัง มีหน้าที่ปฏิบัติสืบทอดประเพณีบุญสารทเดือนสิบอันดีงานนี้ให้คงอยู่ พร้อมทั้งถ่ายทอดขนมธรรมเนียมประเพณีให้กับคนรุ่นต่อไปเฉกเช่นที่บรรพบุรุษเราได้ยึดถือปฏิบัติปลูกฝังอย่างน้อยหากมนุษย์ระลึกถึงเรื่องเปรต ก็จะสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษ รวมทั้งการแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ที่เป็นหัวใจสำคัญ ในการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างสงบสุขตลอดไป

/ ญาดา พัชระ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร