การที่จะมีความสุขแท้จริงนั้น มิใช่อยู่ที่การปรารถนาแล้วได้สมปรารถนาทุกอย่าง หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่อยู่ที่ว่า เราทำอย่างไรจะรู้จักว่าสมควรแก่ความปรารถนาของเราแล้ว ทำให้อยู่ได้เป็นสุข ทำจิตใจของเราให้เป็นสุขได้ อันนั้นก็จะทำให้ได้ความสุขที่แท้จริง ความสุขแท้มิใช่อยู่ที่การสนองความปรารถนาเรื่อยไปที่ไม่จบสิ้น
อีกประการหนึ่งที่ง่ายๆก็คือ ให้มีความปรารถนาที่ชอบธรรม เอาธรรมะมาเป็นเครื่องจำกัดความปรารถนา คือ มนุษย์ปรารถนาสิ่งใหม่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ ก็จะต้องรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้องต่อเรื่องความใหม่และความเก่า ความใหม่บางทีเราก็ไม่อาจจะได้เรื่อยไป
ยกตัวอย่างง่ายๆ ร่างกายของเรา เราไม่สามารถจะให้เป็นร่างกายที่ใหม่ได้ตลอดกาล เมื่อวันเวลาล่วงผ่าน มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ ตอนแรกก็ต้องมีการเจริญเติบโตขึ้นไป เมื่อเติบโตขึ้นสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว ต่อจากนั้นก็ต้องมีความชราเข้ามาเบียดเบียนครอบงำ ร่างกายของเราก็เสื่อมโทรมลงไป
ทีนี้ถ้าเราปรับใจไม่ได้ เราต้องการแต่ความใหม่เรื่อยไป ก็เกิดอาการขัดแย้งกับความปรารถนา เพราะคนเราไม่อาจจะได้ใหม่เรื่อยไป แต่จะต้องเจอกับเก่าด้วย เพราะมีสิ่งที่จำเป็นจะต้องเก่า และสิ่งใหม่ที่มีก็ต้องกลายเป็นเก่า นอกจากนั้นก็มีสิ่งเก่าที่เราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเราอยู่ในโลก
โลกนี้เป็นเรื่องของสังขาร สังขารนั้นมีหลักธรรมดาว่า ย่อมเป็นไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ คือ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องเปลี่ยนแปลง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใหม่แล้วก็กลายเป็นเก่า
เมื่อเราจำเป็นต้องประสบพบกับสิ่งที่เก่า เราจะทำอย่างไร ความเก่า-ใหม่ที่แท้จริง อยู่ที่ไหน
ความเก่าที่เป็นสภาวะตามธรรมชาติของสังขารนี้ก็อย่างหนึ่ง แต่ความเก่าความใหม่ที่มีผลต่อจิตใจของเรานี้ อยู่ที่จิตใจของเรานี่เองแท้ๆ
ถ้าเรามีความรู้สึกหดหู่ ใจคอไม่สบาย จิตใจว้าเหว่หงอยเหงา ก็เป็นลักษณะของจิตใจที่เก่า ถ้าเป็นจิตใจที่สดชื่น เบิกบานผ่องใส อันนี้ก็คือจิตใจที่ใหม่
ถ้ารู้หลักนี้แล้ว เราก็ทำความใหม่ให้เกิดขึ้นได้เสมอ คือทำใจของเราให้ใหม่อยู่เสมอ เพราะฉะนั้น สิ่งทั้งหลายจะเก่าก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก ถ้าเรารู้จักทำใจของเราให้ใหม่อยู่เสมอ
แม้แต่การที่เรามากำหนดกันว่า ให้มีปีใหม่ ทั้งๆที่วัน เดือน ปี ก็หมุนเวียนอยู่ธรรมดาอย่างนั้น มันก็เป็นอุบายอย่างหนึ่งของชาวโลก ที่จะทำจิตใจของตนให้เบิกบานผ่องใส มีความร่าเริง
เมื่อมองลึกลงไปก็จะเห็นว่า ที่ชาวโลกเขามีความเบิกบานผ่องใสสดชื่นนั้น เป็นด้วยอะไร ก็เป็นด้วยจิตใจของเขานี่เอง ไม่ใช่เป็นเพราะวันเก่าวันใหม่อะไรจริงเลย
• จิตใจใหม่สดใส เพราะมีธรรมค้ำชูอยู่ข้างใน
ความใหม่ที่เป็นของประณีตก็คือ เวลาขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นวันที่เรากำหนดกันว่า เป็นสิริมงคลนั้น คนมาแสดงความรักความปรารถนาดีต่อกัน มีไมตรีจิตมิตรภาพ
อย่างพ่อแม่ก็แสดงเมตตาต่อลูก คนทั้งหลายก็ไปแสดงความเคารพนับถือกัน ส่งความสุขให้แก่กันในปีใหม่ ส่งบัตรอวยพร แสดงความปรารถนาดี คนที่รับก็มีความสุขสดชื่นขึ้นมาจากไมตรีจิตมิตรภาพความปรารถนาดีของผู้อื่น
ทั้งหมดนี้แสดงว่า ความใหม่ที่มีผลต่อจิตใจอย่างแท้จริง ก็เป็นเรื่องของธรรมะนั่นเอง ความรักความปรารถนาดีต่อกันหรือไมตรีจิตมิตรภาพนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ธรรมะทำให้จิตใจสดชื่นเบิกบานผ่องใส แล้วความใหม่ก็เกิดขึ้น ผู้ที่รู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ต้องรอวันเวลาที่เป็นเรื่องสมมติในทางโลกมาช่วยให้เกิดความใหม่ แต่สามารถเอาธรรมะมาใช้ทำจิตใจของตนให้ใหม่ได้เสมอไปตลอดกาล
เมื่อรู้หลักอย่างนี้แล้ว ก็ปฏิบัติธรรม เช่น เมตตา(ความรักความปรารถนาดี) ศรัทธา(ความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย) ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในจิตใจเมื่อไร ก็มีความสดชื่นเบิกบานเมื่อนั้น แล้วก็จะมีความใหม่อยู่เสมอ
• ใหม่แท้คือธรรม ที่พ้นเก่าพ้นใหม่ เป็นอมตะที่ใหม่แท้ตลอดไป
ธรรมะที่ว่าใหม่อยู่เสมอนั้น ว่าที่จริงแล้วคือไม่ขึ้นต่อกาลเวลานั่นเอง ความจริงนั้นธรรมะไม่มีเก่าไม่มีใหม่ เป็นของที่คงอยู่อย่างเดิมตลอดเวลา มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า
ชีรนฺติ เว ราชรถา สุจิตฺตา ราชรถที่ตกแต่งประดับประดาอย่างดี ก็ยังมีวันเก่าคร่ำคร่าไป แต่
สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ ธรรมะของสัตบุรุษทั้งหลายไม่แก่ชราเลย
ธรรมะคือหลักความจริง ความจริงเป็นสิ่งคงที่ เป็นสิ่งที่ไม่ตาย ไม่รู้จักเก่า และเมื่อไม่เก่า ก็ไม่ใหม่ด้วย เป็นความจริงอยู่อย่างนั้น ความดีงามก็เช่นเดียวกัน เราประพฤติเมื่อใด ก็เป็นความดีงามเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ธรรมะนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีเก่า-ไม่มีใหม่ เป็นความจริงที่ดำรงอยู่ตลอดไป
เราทั้งหลายที่ต้องการให้ตนพ้นจากการครอบงำของกาลเวลาที่ว่าจะเก่าจะใหม่นั้น ก็นำเอาธรรมะเข้ามาไว้ในจิตใจของตน ประพฤติปฏิบัติตามธรรมะแล้ว ก็จะไม่มีความใหม่ความเก่า แต่จะกลายเป็นอมตะ กลายเป็นไม่ตาย
ชีวิตของเราก็จะไม่ตาย ด้วยรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลาย เหมือนคนที่อยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีความเก่าไม่มีความใหม่ กาลเวลาไม่สามารถครอบงำจิตใจของเขาได้ จิตใจของเขาเป็นอิสระหลุดพ้น เพราะปราศจากกิเลส เพราะปราศจากความครอบงำของกาลเวลา ดังที่กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย สามารถถือเอาประโยชน์จากเรื่องความเก่าความใหม่ของกาลเวลาได้ ทั้งในแง่ที่ว่า
หนึ่ง ทำตัวเองให้เป็นคนใหม่อยู่ตลอดเวลา ด้วยการมีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสเบิกบาน
สอง ทำชีวิตของตนให้เป็นอมตะ เป็นชีวิตที่ไม่ตาย ด้วยการเอาธรรมะที่เป็นสิ่งอันไม่ตาย ที่ไม่ขึ้นต่อกาลเวลานั้น เข้ามาไว้ในจิตใจและการประพฤติปฏิบัติของตน
คุณของพระธรรมอย่างหนึ่งนั้น ท่านระบุว่า “อกาลิโก” แปลว่าไม่ขึ้นต่อกาลเวลา คือ ไม่ว่าจะประพฤติเวลาใดก็ตาม ก็เกิดผลดีเวลานั้น
เมตตาธรรม ความรักความปรารถนาดี เรานำเข้ามาใส่ไว้ในใจเวลาใด เวลานั้นจิตใจของเราก็สดชื่นเบิกบาน เป็นจิตใจที่ดีงาม
ศรัทธา เราปลูกฝังขึ้นไว้ในใจ นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระรัตนตรัย นึกถึงบุญกุศลขึ้นมาเวลาใด จิตใจของเราก็ผ่องใสมีพลังขึ้นมาในเวลานั้น
สติ เกิดขึ้นในใจเวลาใด ใจของเราก็มีหลัก สามารถยั้งหยุดจากความชั่วร้ายทั้งหลายได้ และหันไปหยิบยกเอาสิ่งที่ดีงามขึ้นมาคิดมาทำ
ปัญญา เกิดขึ้นในใจเวลาใด เวลานั้นจิตใจของเราก็สว่างโล่ง รู้เห็น เข้าใจเท่าทันสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้ทิศรู้ทางที่จะเดินหน้าไป
เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงเป็นอกาลิโก แปลว่าไม่ขึ้นต่อกาลเวลา และก็ทำให้เป็นอมตะด้วย นี่คือหลักที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนได้ประโยชน์จากเรื่องกาลเวลาและความเก่าใหม่นั้น
เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของหนังสือเรื่องกาลเวลา จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม