“มะเร็งลำไส้ใหญ่” มัจจุราชร้ายทำลายชีวิตคุณ แพทย์แนะปรับพฤติกรรม

1264
views

พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้น 2.4เท่า ในรอบ10ปี แพทย์เผย 3 สาเหตุ”พันธุกรรม-พฤติกรรม-โรค”

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดโรคหนึ่ง แต่รู้ไหมว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่ป้องกันได้หากเรารู้สัญญาณ การสังเกตอาการ และวิธีป้องกันตัวเอง เพราะสาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากกรรมพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งแล้ว พฤติกรรมการทานอาหารของคนเราก็คือสาเหตุหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่

Thaihealth Watch ได้รายงานสถานการณ์สุขภาพคนไทยพบว่า คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคลำไส้ใหญ่ 10 ปีย้อนหลังเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า โดยเฉพาะคนในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร

และภาคกลางที่มีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต

ขณะที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลของ Thaihealth Watch ร่วมกับสำนักงานระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ซึ่งได้รวบรวมสถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่างปี 2552 – 2561 พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่าทั้งเพศหญิงและชาย

โดยในปี 2552 อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเพศชาย อยู่ที่ 3.6 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 8.9 คนต่อแสนประชากรในปี 2561 เช่นเดียวกับเพศหญิง ในปี 2552 อยู่ที่ 2.8 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 คนต่อแสนประชากรในปี 2561

ที่น่าสนใจคือคนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตกทม.ที่มีจำนวนมากที่สุด 15.1 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าในรอบ 10 ปี ตามด้วยภาคกลาง 10.2 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า

ขณะที่ รศ.นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร อาจารย์หน่วยโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากความผิดปกติของผนังลำไส้ใหญ่ที่เกิดได้ทั่วไปในคนธรรมดา แต่มี 3 สาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค คือ

1. พันธุกรรม เช่น มียีนผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง

2. พฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย และการกินอาหารบางชนิด

3. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ของคนไทยที่เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าตัวนั้นมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมากกว่าพันธุกรรม ทางตะวันตกมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้มากกว่าประเทศไทย

แต่สำหรับประเทศไทยที่พบแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมืองน่าจะมาจากพฤติกรรมที่คล้ายกับทางตะวันตกมากขึ้นโดยเฉพาะการกินอาหารที่มีผักน้อย เน้นเนื้อและมีไขมันสูง รวมถึงภาวะอ้วนก็เพิ่มความเสี่ยง ซึ่งมีข้อมูลที่ชัดเจนจากหลายงานวิจัยพบว่า การทานผักจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรลดการกินเนื้อแดง เนื้อปิ้งย่างที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค

สัญญาณเตือน “มะเร็งลำไส้ใหญ่”

-น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรับประทานอาหารในปริมาณเท่าเดิม

-ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไป อาจมีขนาดเล็กลง หรือมีเลือดออกมาปะปนด้วย

-ท้องผูก และท้องเสียสลับกันบ่อยผิดปกติ หรืออาจมีอาการท้องผูกเรื้อรัง

-ท้องอืด ท้องเฟ้อ บ่อยผิดปกติ และมักมีอาการปวดบริเวณท้องช่วงล่าง

-คลื่นไส้ อาเจียน ความอยากอาหารลดลง เพราะเมื่อมีก้อนเนื้ออยู่ในลำไส้ การทำงานของลำไส้จะช้าลง ส่งผลให้ไม่รู้สึกหิว

-เกิดอาการอ่อนเพลียผิดปกติ เพราะการสูญเสียเลือดจากการที่มีเลือดออกในลำไส้เนื่องจากเนื้องอก จะส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลีย ซึ่งถ้าหากเสียเลือดมากเกินไปอาจถึงขั้นช็อกได้

-โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ

การตรวจวินิจฉัย

จากการซักประวัติและตรวจร่างกายรวมถึงการตรวจโดยการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก ร่วมกับการใช้อุปกรณ์กล้องขนาดสั้น เรียกว่า Proctoscope เพื่อตรวจดูว่ามีก้อนเนื้อแปลกปลอมอะไรหรือไม่

ตรวจหาเลือดในอุจจาระ นำตัวอย่างอุจจาระที่ได้ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งถ้าหากมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระก็แปลว่าภายในระบบทางเดินอาหารอาจมีเลือดออก แพทย์ก็จะส่งตัวให้ไปทำการตรวจอย่างละเอียดในขั้นต่อไป

การส่องกล้อง เพื่อตรวจวินิจฉัยเพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด เรียกว่า Colonoscopy

การกลืนสีหรือแป้ง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถตรวจหาก้อนเนื้อได้ก็คือการกลืนสารทึบรังสี แล้วเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ หากพบความผิดปกติของลำไส้หลังจากเอกซเรย์ หรือขณะที่กำลังส่องกล้อง แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ ถ้าหากใช่แพทย์ก็จะวางแผนสำหรับการรักษาต่อไป

การรักษา

1. การผ่าตัดถือเป็นวิธีการรักษาเบื้องต้นของโรคมะเร็ง โดยแพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อมะเร็งออกโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ส่วนใหญ่แล้วหากเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว โดยจะผ่าตัดนำลำไส้ส่วนที่เสียออกแล้วนำลำไส้ที่เหลือมาต่อกัน แต่ถ้าหากส่วนที่เป็นมะเร็งนั้นอยู่ใกล้ทวารหนักก็อาจมีการตัดทวารหนักทิ้ง และให้ผู้ป่วยใช้การอุจจาระผ่านทางหน้าท้อง จากนั้นแพทย์ก็จะทำการติดตามผลอย่างใกล้ชิดจนมั่นใจว่าจะไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ถ้าหากผู้ป่วยอยู่ในระยะที่ 2 ขึ้นไป ก็จะเพิ่มการรักษาด้วยรังสีหรือเคมีบำบัดตามมาหลังการผ่าตัดด้วยเพื่อให้ ทำลายเซลล์มะเร็งให้หมด ไม่ให้หลงเหลือจนเกิดมะเร็งซ้ำ

2. รังสีรักษาเป็นการรักษาที่ใช้รังสีทำลายเซลล์มะเร็งในบริเวณที่เกิดโรค วิธีนี้สามารถลดขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งได้เกือบทั้งหมด ทำให้สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น โดยการใช้รังสีรักษาจะทำได้ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด แต่ปัจจุบันนี้แพทย์นิยมให้ใช้การรักษาด้วยรังสีก่อนการผ่าตัด เนื่องจากได้ผลที่ดีกว่า แต่การให้รังสีหลังผ่าตัดก็สามารถป้องกันการเกิดซ้ำของโรค และลดการนำลำไส้มาเปิดไว้ที่หน้าท้องได้เช่นกัน

3. เคมีบำบัด การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้ร่วมกับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยหลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วก็จะต้องได้รับยาเคมีบำบัดเพิ่มเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาแบบนี้จะต้องเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่ 2 เป็นต้นไป หรือมีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ การใช้เคมีบำบัดสามารถเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยได้มากเลยทีเดียว ขณะที่ในบางรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาด้วยเคมีบำบัดก็จะกลายเป็นการรักษาหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ลดความทรมานจากมะเร็ง แต่จะไม่สามารถทำให้หายขาดได้

อย่างไรก็ตามนอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้เสี่ยงน้อยลง ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่รับประทานอาหารเนื้อแดง อาหารแปรรูป และออกกำลังกายสม่ำเสมอแล้ว การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจะมีส่วนช่วยเราได้มากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจเฉพาะทางอย่างการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง หรือ Colonoscopy จะมีส่วนช่วยเราให้ปลอดภัยได้มากขึ้น เพราะหากตรวจพบเจอเนื้องอกเร็ว การตัดทิ้งก่อนที่จะลุกลามเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็จะทำให้เราปลอดภัยได้มากกว่า

ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ ,Thaihealth Watch,สสส.

บทความต้นฉบับ

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” มัจจุราชร้ายทำลายชีวิตคุณ แพทย์แนะปรับพฤติกรรม

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร