พระธรรมเทศนาขั้นสุดยอด พระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”
” ในปฐมเทศนา พระองค์ทรงยกทุกข์ขึ้นแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก มิได้ทรงสอนให้ละ แต่ทรงสอนให้ยกไว้เป็นตัวประธาน (คือ ให้เอามาเป็นอารมณ์) ตลอดพระธรรมเทศนาในกัณฑ์เดียวกันนี้ไม่ปรากฏ ณ ที่ใดเลยว่าพระพุทธองค์สอนให้เอาสุขมาเป็นอารมณ์ จึงโดยอนุมานว่าทุกข์เป็นของมีค่ามาก พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ท่านจะบรรลุธรรมอันสูงสุดหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ความเพียรเพ่งพิจารณาด้วยปัญญาอันชอบในทุกข์นี้ทั้งนั้น ”
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
อาสาฬหบูชาเป็นวันคล้ายวันพระพุทธเจ้าทรงตรัสพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น เป็นครั้งแรกแต่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปวัตตนสูตร
อริยสัจธรรม ๔ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เรียกโดยย่อว่า “ ธรรมจักร ” ทำไมจึงเรียกธรรมจักร คือมันมี ปริวัฎ ๓ อาการ ๑๒ อริยสัจธรรม ๔ แต่ละอัน ๆ มีปริวัฏ ๓ คือทรงเทศนาเวียน ๓ รอบ จึงเป็นอาการ ๑๒ แล้วท่านก็ทรงเทศนารวมความว่า ปริวัฏ ๓ อาการ ๑๒ นี้ทำกิจในขณะจิตเดียว อันนั้นเป็นของละเอียดหน่อย พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดเจนด้วยพระองค์เองแล้วจึงเอามาเปิดเผย แต่ก็ยากที่พวกเราทั้งหลายจะเข้าใจ ถึงไม่เข้าใจก็จะเทศนาให้ฟังพอเป็นเครื่องพิจารณาดังนี้
ทุกข์ – ชาติปิ ทุกขา ชราปิ ทุกขา มรณัมปิ ทุกขัง เรียกว่า ทุกข์กาย โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เรียกว่า ทุกข์ใจ ทุกข์เป็นของควรกำหนดมิใช่ของควรละ และก็เป็นธรรมด้วยทุกข์มีชาติเป็นต้นมีอยู่ในตัวของเรา ไม่ได้มีที่อื่น ส่วนทุกข์ปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆอีกนับไม่ถ้วน
สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหา ๓ อย่าง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
กามตัณหา คือความพอใจรักใคร่ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หาที่สุดไม่ได้ กามตัณหานี้เป็นตัวประธานของทุกข์ทั้งปวง
ภวตัณหา ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ได้มาแล้วก็ไม่พอยังอยากได้อีก ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องมาจากกามตัณหา เป็นตัวบวกให้เกิดทุกข์
วิภวตัณหา ความไม่ยินดี ในการรักใคร่พอใจในรูปเป็นต้น หรือได้สิ่งต่าง ๆ ที่ตนปรารถนามาแล้วกลับไม่พอใจ ไม่อยากได้ ไม่อยากประสบพบเห็นสิ่งนั้น ๆ นี้ก็เป็นตัวลบ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อีกประการหนึ่ง ธรรมดาสิ่งทั้งปวงนี้เป็นของมีอยู่ในโลกนี้ ต้องมีการบวกเมื่อบวกมาก ๆ แล้วไม่ลบก็ไม่ทราบว่าจะเอาไปไว้ไหนกัน เมื่อมีการบวกและการลบจึงค่อยเป็นโลกคือตัวสมุทัย
นิโรธ คือความดับทุกข์ คือไม่อยากมีอยากเป็นก็ไม่ว่าอยากมีอยากเป็นก็ไม่ว่า ความวางเป็นกลางเฉย ๆ มันจะทุกข์มาจากไหน เอาเถิด ถึงจะละไม่ได้โดยตลอดที่เรามีชีวิตอยู่นี้ก็เอาในปัจจุบันก่อน ละในปัจจุบันวางใจให้เฉย ๆ ให้เป็นกลาง ๆ นั้นแหละนิโรธก่อนแล้ว นั่นนิโรธของเรา ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า เราทำได้อย่างนี้ทำได้บ่อย ๆ วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องเป็นของเราแน่นอน
มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางไปถึงนิโรธ คือความดับทุกข์ มีสัมมาทิฐิขึ้นต้น สัมมาคือความชอบ ทิฐิคือความเห็น ใครเห็นอะไรก็อันนั้นแหละว่าเป็นของชอบทั้งนั้น มันยากอยู่ตรงนั้นแหละ
ทุกข์กับนิโรธอันนี้เป็นผล สมุทัยและมรรคอันนี้เป็นเหตุ ธรรมมันต้องมีเหตุมีผล เมื่อมีเหตุก็เกิดธรรมนั้น ๆ ขึ้น เมื่อเหตุดับ ธรรมทั้งหลายก็ดับหมด เหตุนั้นเพราะพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิเกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์ คือความเห็นอันนั้นเป็นกลางวางเฉยจึงได้เทศนาในธรรมจักรว่า ทางสองแพร่งอันพรรพชิตไม่ควรเสพ คือ อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้เหน็ดเหนื่อยเปล่า เช่น พวกฤาษีโยคีต่าง ๆ ทำความลำบากตรากตรำตนต่าง ๆ นานา ไม่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นจากทุกข์ และ กามสุขัลลิกานุโยค เป็นไปเพื่อกามกิเลสอันเป็นเหตุให้มัวหมองเศร้าหมอง ท่านเรียกทาง ๒ อย่างนี้ว่าทางสุดโต่ง พระองค์ได้รู้ชัดขึ้นในพระทัยของพระองค์โดยไม่มีใครบอกเล่าหรือเล่าเรียนมาแต่ก่อนเลย ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ดังนี้
จกฺขํ อุทปาทิ จักษุคือตาอันเป็นเพชร สามารถรู้แจ้งเป็นธรรมในที่ทุกสถาน หาสิ่งใดปกปิดไม่ได้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์
ญาณํ อุทปาทิ ญาณคือความรู้ทั้งอดีตอนาคตทั้งของพระองค์และบุคคลอื่นอันหาที่สุดไม่ได้ จนสิ้นสงสัยในพระทัยของพระองค์ ได้เกิดขึ้นแล้ว
ปญฺญา อุทปาทิ ปัญญารอบรู้ในสรรพเญยธรรมทั้งหลายอันหาที่สุดไม่ได้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์
วิชฺชา อุทปาทิ ความรู้วิเศษอันล่วงเสียซึ่งความรู้ของมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม ไม่มีเหมือนของพระองค์ได้เกิดขึ้นแล้ว
อาโลโก อุทปาทิ พระองค์มองเห็นโลกทั้งหมดเป็นสักแต่ว่า “ เป็นธาตุ ” ไม่มีมนุษย์ บุรุษ หญิง ชาย มิใช่รู้แจ้งอย่างกลางวันหรือมีแสงสว่างอย่างพระอาทิตย์พระจันทร์แต่เห็นชัดด้วยใจของพระองค์ ได้เกิดขึ้นแล้ว
ที่จริงโลกก็เป็นโลกนั่นแหละ เกิดมาในโลกก็ต้องเป็นโลก แต่ความรู้ของพระองค์มันพลิกล็อคไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากอำนาจสมาธิภาวนาอันแน่วแน่ภายในของพระองค์ เห็นอย่างไรจึงกลายเป็นธรรมได้ คนเกิดมาในโลกนี้มันเป็นโลกอยู่แล้วหมดทั้งตนทั้งตัว แต่พระองค์ทรงเห็นว่าเกิดขึ้นมามันแก่ มันเจ็บ มันตาย ของเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง อันนี้เป็นทุกข์ ทุกตัวตนทุกสัตว์ทุกหมู่เหล่าเป็นเหมือนกันหมด อันนั้นแหละมันเป็นธรรม เรียกว่า “ เห็นโลกเห็นธรรม ” โลกเลยไม่มี ของเหล่านี้เกิดขึ้นที่พระองค์โดยไม่ได้คิดตามตำรา ไม่ได้ยินได้ฟังจากคนไหนมาก่อน แต่หากปรากฏขึ้นมาที่พระทัยอันใสสะอาดปราศจากมลทินมัวหมอง มีสมาธิผ่องใสบริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน เรียกว่า “ สัพพัญญูพุทธะ ” เกิดขึ้นมาเองด้วยตนเอง
โดยใจความของธรรมจักร ก็มีธรรม ๔ ประการ คือ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีปริวัฏ ๓ คือ
ปริวัฏที่หนึ่ง นี้คือ แสดงถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคแต่ละอันนี้เป็นตัวยืน
ปริวัฏที่สอง ทุกข์เป็นของควรกำหนด มิใช่ของควรละ แล้วก็เป็นธรรมด้วย สมุทัยจึงเป็นของควรละ นิโรธเป็นของควรทำให้แจ้ง มรรคเป็นของควรเจริญ
ปริวัฏที่สาม ทุกข์เป็นของควรกำหนด เราได้กำหนดแล้ว สมุทัยเป็นของควรละ เราได้ละแล้ว นิโรธเป็นของควรทำให้แจ้ง เราได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคเป็นของควรเจริญ เราได้เจริญแล้ว
อาการ ๑๒ นี้เมื่อมันจะเกิดมันก็เกิดขึ้นมาเองในขณะจิตเดียวเท่านั้น ไม่ได้ลำดับดังที่อธิบายมานี้หรอกรู้แจ้งเห็นจริงหมดทุกสิ่งทุกอย่าง หายสงสัยในธรรมทั้งปวง อันนั้นเป็นของยาก ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ หากคนใดทำได้แล้วเกิดความรู้ขึ้นมานั่นแหละจึงจะเห็นด้วยตนเอง ธรรมอันนี้เป็นของลึกซึ้งมากที่สุด รู้เห็นเฉพาะตนเอง คนอื่นหารู้ด้วยไม่
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นครั้งแรกให้แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ อันมี พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น ฟังจบแล้ว ท่านได้ดวงตาเห็นธรรมว่า “ สิ่งทั้งปวงมีความเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกับไปเป็นธรรมดา ” (คือได้พระโสดาบันบุคคล) แล้วท่านจึงขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พรองค์ก็ได้ประทานเอหิภิกขุให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วก็เป็น พระอริยาสงฆ์องค์แรกในพุทธศาสนา อีกด้วย พระไตรสรณคมน์จึงครบ ๓ ตั้งแต่นั้นมา แล้วพระองค์ก็ได้เทศนาด้วยธรรมหลายปริยายให้ท่านทั้งห้านั้นฟัง จนที่สุดได้แสดง “ อนัตตลักขณสูตร ” ให้ฟังท่านเหล่านั้นจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านทั้ง ๔ องค์จึงขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระพุทธเจ้า
จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘
โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
วันอาสาฬหบูชา วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนเป็นครั้งแรก
ประวัติ พระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกผู้เป็นเลิศในทางฤทธิ์
เปรต "Preta" หมายถึงผี ตามความเชื่อในหลายศาสนาทั้ง ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ และศาสนาเชน ตามความเชื่อนั้น เปรตเป็นผีได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสกว่าเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มาก โดยต้องทรมานกับความหิวโหยและความเจ็บปวดทางกาย ความเชื่อเรื่องเปรตมีต้นกำเนิดมาจากพิธีกรรมทางศาสนาในประเทศอินเดียตั้งแต่ยุคโบราณ และเริ่มแพร่กระจายสู่สังคมในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก คำว่า "Preta"… อ่านเพิ่มเติม..
เชื่อหรือไม่? ว่าประเทศไทยในอดีตนั้นเคยมี ‘กระทรวงเวทมนตร์’ แต่ใช้ในชื่อว่า ‘กระทรวงแพทยาคม’ หรือบางบันทึกเรียกว่า ‘ศาลกระทรวงแพทยา’ ซึ่งเป็นกระทรวงที่เกี่ยวกับสอบสวนพิจารณาโทษของผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการกระทำทาง ’ไสยศาสตร์’ โดยเฉพาะ เนื่องจากในสมัยนั้น ไม่ว่าชนชั้นใดก็ต่างเชื่อในเรื่องของ ไสยศาสตร์ กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูง… อ่านเพิ่มเติม..
ทำไมเด็กถึงติดหมอนเน่า ผ้าห่มเน่า หรือตุ๊กตาเก่าๆ 🧸💕 เคยสังเกตไหมว่าเด็กน้อยมักมีของชิ้นพิเศษที่พวกเขาพกติดตัวไม่ห่าง เช่น ตุ๊กตาหมี หมอน หรือผ้าห่มเก่าๆ ซึ่งเราอาจเรียกมันว่า "หมอนเน่า" "หมีเน่า" แต่สำหรับเด็กแล้ว สิ่งเหล่านี้คือความสบายใจในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา! 😌💫… อ่านเพิ่มเติม..
🚨ตำรวจไซเบอร์ แนะนำ 5 แอปฯเช็คน้ำท่วมและสภาพอากาศ 🌂 ช่วงนี้ประเทศไทยบางพื้นที่ฝนตกหนักมาก เกิดน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันภัยให้ทันท่วงที ตำรวจไซเบอร์ขอแนะนำ 5 แอปพลิเคชันเช็กสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นตัวช่วยวางแผนการเดินทางและจัดการความเสี่ยงได้ทันเวลา ⚠️เอาตัวรอดจากน้ำท่วม… อ่านเพิ่มเติม..
ดื่มกาแฟดำหลังอาหาร ลดการดูดซึมแคลเซียมและธาตุเหล็ก! กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันแล้ว!! ดื่มกาแฟดำหลังอาหาร ลดการดูดซึมแคลเซียมและธาตุเหล็ก จริง เพราะฉะนั้นควรระวัง หากจะดื่มกาแฟดำแต่กินอาหารเสริมแคลเซียมและธาตุเหล็กควรเว้นระยะห่าง อย่าดื่มต่อกันทันที ตามที่มีข่าวสารในสื่อต่าง ๆ เรื่อง ดื่มกาแฟดำหลังอาหาร… อ่านเพิ่มเติม..
เปิด 5 เคล็ดลับ วิธีการดื่มน้ำอย่างไร ให้เป็นยาดีต่อร่างกาย ตามหลักอายุรเวท อายุรเวท (ศาสตร์แห่งชีวิตในภาษาสันสกฤต) เป็นการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดความสกปรกออกจากร่างกาย ลดอาการของโรค เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรค คลายความกังวล และเพิ่มความสมดุลในชีวิต แนวคิดหลักของอายุรเวทเชื่อว่า… อ่านเพิ่มเติม..
This website uses cookies.