เตือนจับ “ปลานกแก้ว” หากพบเห็นแจ้งเจ้าหน้าที่ โทษสูงจำคุก 5 ปีปรับไม่เกิน 2 หมื่น

1455
views

“ปลานกแก้ว สีสันแห่งทะเล ปลาผู้พิทักษ์และดูแลปะการัง” ไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ ไม่รับประทานปลานกแก้วหากพบเห็นการจับปลานกแก้วในเขตอุทยานแห่งชาติให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

เพจอนุรักษ์ รณรงค์อย่าจับปลานกแก้ว มาบริโภค เนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่ของทะเลและช่วยกำจัดปะการังที่ตายแล้ว ด้านกรมอุทยานฯ เตือนจับปลา หรือสัตว์น้ำเขตอุทยาน โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากกรณีเว็บไซต์ Similan Farm, Clownfish โพสต์ข้อความพร้อมระบุว่า อย่ากินผมเลยได้ไหม ผมชื่อปลานกแก้วครับ หลายๆคนที่เป็นนักดำน้ำคงจะรู้จักผมดี เพราะพวกผมมีสีสันสวยงาม และมักพบเห็นได้ง่ายในแนวปะการัง ใช่แล้วครับบ้านของผมอยู่ในแนวปะการัง เห็นจงอยปากแข็งๆของผมไหม ผมเอาไว้ครูดกินซากปะการังตาย เสร็จแล้วก็ถ่ายออกมาเป็นทรายขาวๆ ที่ทุกคนชื่นชอบ ปีๆหนึ่งผมอึ ออกมาเป็นทรายได้ถึง 90 กิโลกรัมเลยนะ

ผมยังมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างคือหม่ำสาหร่าย ที่มักขึ้นคลุมแนวปะการังหลังปะการังตายเนื่องจากเหตุ การณ์ปะการังฟอกขาว หรือภัยคุกคามอื่นๆ ถ้าไม่มีผมล่ะ ก็สาหร่ายจะพากันขึ้นคลุมพื้นที่จะทำให้ตัวอ่อนปะการังไม่มีที่ลงเกาะ แล้วก็จะไม่มีปะการังตัวอ่อนมาทดแทนตัวเก่านะครับ

“แต่เดี๋ยวนี้มนุษย์เริ่มนิยมนำผมมาบริโภคมากขึ้น เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ของผมถูกจับมาขายเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่แนวปะการังส่วนใหญ่เป็นเขตอนุรักษ์และไม่อนุญาตให้มีการทำประมง”

ถ้าความนิยมในการกินพวกผมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างนี้ และมีผมวางขายอยู่ทุกหนทุกแห่ง ผมเป็นห่วงเกินว่าบ้านของผมคือแนวปะการังจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ก็ใครจะคอยทำหน้าที่กินซากปะการังที่ตาย และคอยกันไม่ให้สาหร่ายขึ้นคลุมปะการังล่ะครับ

อย่ากินผมเลยนะครับ ปล่อยให้ผมได้ทำหน้าที่อนุรักษ์แนวปะการังของผมต่อไปเถิด ถ้าคิดถึงอยากเจอกันก็ไปเยี่ยมกันได้นะ ไปดำน้ำดูปะการัง แล้วผมจะพาเที่ยวเอง ผมยินดีต้อนรับเสมอ

ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์หลายคนยังแสดงความห่วงเนื่องจากยังพบมีการนำปลานกแก้วมาวางขายที่ร้านอาหาร และร้านขายอาหารทะเลในตลาด จึงเรียกร้องให้มีการคุ้มครองปลาชนิดนี้ก่อนที่จะสูญพันธ์ุ

สำหรับ ปลานกแก้ว หรือ Parrotfish เป็นปลาทะเลขนาดกลางชนิดหนึ่ง มีเกล็ดขนาดใหญ่ จะงอยมีปากยืดหดได้ ปากคล้ายนกแก้ว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อปลานกแก้ว มีรูปร่างลักษณะและสีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่นและนำมาเป็นอาหาร ทำให้ประชากรปลานกแก้วลดลง ส่งผลกระทบระบบนิเวศโดยรวมของทะเล และทำให้ทะลเบริเวณนั้น เสียสมดุลไปอย่างมาก ปะการังตายมากขึ้น ฟื้นตัวช้า และเมื่อเกิดการฟอกสีเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ก็จะฟื้นตัวยากหรือตายไปอย่างถาวร

ทั้งนี้ ปลานกแก้ว มักอาศัยอยู่ตามแนวประการัง เพื่อหาอาหาร โดยพื้นที่แนวปะการังทั่วประเทศไทย ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ปะการังหลายฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเดินเรือน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 พระราชบัญญัติให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำผิดบางอย่างทางทะเล พ.ศ. 2490 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับ ซึ่งกฎหมายบางฉบับเกี่ยวข้องโดยตรงและบางฉบับเกี่ยวข้องในทางอ้อม

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร