นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นครั้งที่ 15 เนื่องจากมีช่วงระยะเวลาคาบเกี่ยวกับเทศกาลปีใหม่ คือ ระหว่างเดือน ธ.ค. 2564 กับเดือน ม.ค. 2565 จึงเห็นควรพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 – 31 ม.ค. 2565 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่และการดำเนินชีวิตของประชาชน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (แดงเข้ม) เดิม 6 จังหวัด ปรับเป็นไม่มี และยกเลิกการออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว
ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) เดิม 39 จังหวัด ปรับลดเป็น 23 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น จันทบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง ยะลา ระยอง สงขลา สตูล สระบุรี สระแก้ว และสุราษฎร์ธานี
ขณะที่พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) คงเดิม 23 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ ชลบุรี นครนายก นครปฐม พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อุดรธานี และอุบลราชธานี
ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 5 จังหวัด ปรับเพิ่มเป็น 24 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ พะเยา พิจิตร แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอำนาจเจริญ
พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) เดิม 4 จังหวัด ปรับเพิ่มเป็น 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ กระบี่ กาญจนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และภูเก็ต โดยพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวให้ใช้มาตรการเช่นเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564
ศบค. เห็นชอบให้ขยายเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ไปอีก 2 เดือน จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ย. นี้ นับเป็นการต่ออายุการใช้กฎหมายพิเศษนี้เป็นครั้งที่ 15 นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2563