ประวัติ หลวงพ่อโอภาสี ผู้ถวายเพลิงเป็นพุทธบูชา

7907
views
หลวงพ่อโอภาสี

หลวงพ่อโอภาสี หรือ พระมหาชวน (พ.ศ. ๒๔๔๑ – ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘) เดิมชื่อ ชวน มะลิพันธ์ ถือกำเนิดที่ บ้านตรอกไฟฟ้า อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ต่อมาเมื่ออายุ ๕ ปี ท่านได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ของพระครูนนท์ จรรยาวัตต์ เจ้าอาวาสวัดนันทาราม อ.ปากพนัง และในขณะที่ท่านบรรพชา ท่านก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมประกอบไปด้วยกัน ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ไม่นาน ท่านก็ลาพ่อแม่เดินทางมาศึกษาต่อยังกรุงเทพฯ

หลวงพ่อโอภาสี

สามเณรชวนได้รับการนำมาถวายตัวเป็นศิษย์ในองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรฌานวงศ์ซึ่งได้รับไว้ในพระอุปการะ และทรงทำการอุปสมบทให้เป็นภิกษุในพัทธสีมาวัดบวรโดยทรงนั่งเป็นพระอุปัชฌาย์ พระภิกษุชวนเล่าเรียนพระปริยัติจนสอบได้เปรียญ ๗ ประโยค เข้ารับพระราชทานพัดจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรียกกันติดปากคนทั่วไปว่า มหาชวนเปรียญเอก

แต่หลังจากเล่าเรียนปริยัติธรรมจนเชี่ยวชาญ มหาชวน เห็นว่าถึงแก่เวลาต้องศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อหา “ทางสว่าง” แห่งการพ้นทุกข์บ้างแล้ว จึงตัดสินใจจาริกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ผ่านป่าเขาลำเนาไพรมากมาย

จนกระทั่งได้ยินชื่อเสียงของ หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ว่าเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและมีกิจวัตรที่ไม่เหมือนใคร เสมือนเป็นแรงบันดาลใจให้ มหาชวน ดั้นด้นเดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อกบนานหลายเดือนก็กราบลาพระอาจารย์กลับไปพำนักที่วัดบวรนิเวศวรมหาวิหาร

มีเรื่องเล่าขานกันว่า หลังจาก มหาชนวน เล่าเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงพ่อกบกลับวัดบวรนิเวศฯแล้ว มักชอบเก็บตัวนั่งวิปัสสนาตลอดทั้งวัน เช้าตื่นออกบิณฑบาตและฉันเช้าเพียงมื้อเดียว ช่วงบ่ายก็เปิดกุฏินำเอาสิ่งของต่าง ๆ มาเผาไฟ เริ่มจากทีละเล็กทีละน้อย ๆ ก่อนกลายเป็นชิ้นใหญ่ ๆ คนจีนแถวบางลำพูเห็นเข้าก็ศรัทธาพากันนำข้าวของมาถวายให้เผาเป็นการใหญ่

หลวงพ่อโอภาสี

นอกจากนี้จะมุ่งมั่นนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว ท่านยังเผาสิ่งของควบคู่กันไปด้วย จนชื่อเสียงเริ่มขจรขจายไปทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างรวดเร็ว บางคนก็เห็นด้วยกับการกระทำนี้ แต่บางคนกลับมองว่าเป็นวิกลจริตหรือเป็น “พระบ้า” ซึ่งบางครั้งท่านจุดธูปเทียนบูชาพระจนควันไฟท่วมกุฎิจนพระในวัดและชาวบ้านเข้าใจว่าไฟไหม้หลายครั้งด้วย

เคยมีคนไปถามท่านว่า “หลวงพ่อเจ้าค่ะ ทำไมต้องเผาสิ่งของด้วย เพราะอะไร” ท่านก็ตอบว่า “ปกติไฟจะเผาผลาญทุกสรรพชีวิตจนมอดไหม้หมดสิ้นได้ก็จริง แต่จิตใจของมนุษย์ปุถุชนกลับร้อนยิ่งกว่าเปลวไฟ คือร้อนจากความโลภ ความโกรธ ความหลง และเต็มไปด้วยความอยากได้อยากมีไม่สิ้นสุด

การที่อาตมานำปัจจัยและสิ่งของที่ญาติโยมนำมาถวายเผาไฟ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและช่วยดับความร้อนในใจของมนุษย์ให้สิ้นไป หรือเผากิเลสให้หมดสิ้นไปนั่นเอง” ที่น่าประหลาดคือใครถามถึง “มหาชวน” จะได้รับคำตอบว่า “มหาชวนตายไปแล้ว จากนี้ไปมีแต่ โอภาสี เท่านั้น”

แต่แล้วไม่กี่ปีต่อมา มีผู้คนไม่น้อยที่ไม่พอใจในพฤติกรรมประหลาดของท่าน เริ่มเคลื่อนไหวและขับไล่ให้ออกไปจากวัดบวรนิเวศฯ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงพ่อโอภาสี จึงจาริกแสวงบุญไปเรื่อย ๆ ไปแวะที่ไหนมักถูกขับไล่เพราะท่านจุดไฟเผาข้าวของเหมือนเดิม

หลวงพ่อโอภาสี

จนสุดท้ายหลวงพ่อโอภาสีได้ไปพำนักในสวนส้มของชาวบ้านย่านบางมด ฝั่งธนบุรี เจ้าของสวนและชาวบ้านศรัทธาท่านยิ่งนัก สร้างกุฏิเล็ก ๆ ถวายป้องกันแดดฝน แต่ท่านก็ไม่สนใจ ยังคร่ำเคร่งกับการเผาไฟเป็นพุทธบูชาตามปกติ

นับวันหลวงพ่อจะก่อกองไฟเผาปัจจัยและสิ่งของมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นธนบัตร เงินสกุลต่าง ๆ และข้าวของมีค่าทุกชิ้น ท่านเผาไม่เหลือ จนชาวบ้านแห่นำน้ำมันก๊าดไปถวายให้ใช้ก่อไฟเผากันจำนวนมาก

หลวงพ่อโอภาสี มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๔๙๘ แต่สังขารของท่านลูกศิษย์นำบรรจุไว้ในโลงแก้วประดิษฐานในพระมหาเจดีย์ในสวนอาศรมบางมด หรือปัจจุบันคือ วัดหลวงพ่อโอภาสี หรือวัดพุทธบูชา บางมด ฝั่งธนบุรี เพื่อให้ผู้ศรัทธากราบไหว้และน้อมนำคำสอน-ธรรมะของท่านมาปฏิบัติเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ทำไมถึงต้องชื่อ “โอภาสี”

หลวงพ่อโอภาสี

มีผู้ศรัทธาพยายามสอบถามหลวงพ่อโอภาสีหลายครั้ง ต่างสงสัยว่า “ทำไมมหาชวนตายแล้วกลายมาเป็นโอภาสี” หลวงพ่อจะตอบเหมือนกันทุกครั้งว่า “มหาชวนตายไปแล้ว ที่อยู่คือโอภาสีผู้บูชาไฟถวายเป็นพุทธบูชา” และบางคนถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่ออายุเท่าไหร่แล้ว”ท่านจะนั่งครุ่นคิดครู่หนึ่งก่อนบอกว่า “ในโลกมนุษย์ก็ ๖๐ ปีแล้ว (สมัยนั้น) แต่อายุจริงป่านนี้ไม่รู้เลย มันนานมากแล้ว จำไม่ได้หรอก”สร้างความงุนงงให้ลูกศิษย์ทั่วหน้า ไม่เข้าใจว่าท่านพูดอะไร

แต่ในบรรดาลูกศิษย์ของท่านมีหลายคนที่เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน คือเป็นลูกศิษย์สายหลวงพ่อกบแต่เดิม ภายหลังหลวงพ่อกบมรณภาพก็ติดตามมารับใช้และปรนนิบัติหลวงพ่อโอภาสีสืบมา ได้แปลคำพูดของท่านให้ฟังว่า “จริง ๆ แล้วเป็นปริศนาธรรม หมายถึงมหาชวนเกิดในโลกมนุษย์นี้มีอายุแค่ ๖๐ ปี

แต่ในความเป็นจริงต้องแยกให้ออกระหว่าง กาย และ จิต ตามแบบวิปัสสนากัมมัฎฐาน เมื่อกายในชาตินี้สลายตายไป เหลือเพียงดวงจิตก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนี้มาเนิ่นนาน ท่านจึงตอบว่าจำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าวนเวียนตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายมาแล้วกี่ชาติภพ”

ที่น่าประหลาดใจคือ คนที่รู้จัก มหาชวน เดิมนั้นยืนยันว่า บุคลิกของมหาชวน เป็นพระเรียบร้อย พูดจาเสียงเบา ๆ และสำรวม น่าเลื่อมใสสมกับมหาเปรียญ ๗ ประโยค

หลวงพ่อโอภาสี

แต่หลวงพ่อโอภาสีบุคลิกกลายเป็นอีกคน พูดจากระโชกโฮกฮาก ไม่เกรงใจใครและมีอารมณ์ร้อนแรงเหมือนไฟที่ท่านบูชา และที่หลายคนสงสัย ในกุฏิหลวงพ่อโอภาสีมีพระฉายาลักษณะหรือพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อยู่มากมาย แทบทุกพระอิริยาบถก็ว่าได้ เป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนคิดไม่ออกว่าเพราะอะไรอีกเช่นเดียวกัน แต่ก็มีคนพยายามแปลปริศนานี้ในทำนองว่า “หลวงพ่ออาจมีความผูกพันหรือปลาบปลื้มในพระจริยวัตรอันงดงามของรัชกาลที่ ๕ เป็นพิเศษก็เป็นได้”

ปาฏิหาริย์ครั้งสุดท้าย

พุทธสมาคมประเทศอินเดียทำจดหมายนิมนต์หลวงพ่อโอภาสีให้เดินทางไปมนัสการสังเวชนียสถานและเชิญชวนญาติโยมที่ศรัทธามารอนมัสการหลวงพ่อพร้อมหน้าพร้อมตากันในวันที่ ๒๘ ต.ค. ๒๔๙๘ แต่หลวงพ่อให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดเขียนจดหมายตอบไปว่าขอเลื่อนไปวันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๔๙๘ จะสะดวกกว่า ทำให้กำหนดการต้องเลื่อนออกไปตามความประสงค์ของท่าน

หลวงพ่อโอภาสี

ในครั้งนั้นพระภิกษุและญาติโยมหลายท่านขอเดินทางไปพร้อมหลวงพ่อโอภาสี แต่ท่านปฏิเสธ โดยบอกว่า “ไม่ได้หรอก คราวนี้อาตมาไปแบบพิสดารไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีใครไปด้วยได้สักคน” สร้างความสงสัยให้ทุกคน แต่ไม่มีใครกล้าถามอะไร

จนวันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๔๙๘ มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ นายกพุทธสมาคมประเทศอินเดีย กำลังนั่งพักผ่อนในบ้าน เหลือบเห็นกลุ่มควันปรากฏที่ผนังห้องเบื้องหน้าและมีใบหน้าหลวงพ่อโอภาสีลอยเด่นขึ้นมาก่อนสลายหายไป สร้างความแปลกใจให้เป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกสังหรณ์บางอย่าง มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ ไม่รอช้ารีบออกไปหน้าบ้าน คนรับใช้ก็บอกว่า มีพระจากประเทศไทยมานั่งรออยู่ในห้องรับแขกพบว่าเป็น หลวงพ่อโอภาสี

หลวงพ่อโอภาสี

จึงเข้าไปกราบเท้าท่านด้วยความศรัทธาและพูดว่า “ทำไมหลวงพ่อมาไม่บอกล่วงหน้า จะได้เอารถไปรับจากสนามบิน” หลวงพ่อบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก อาตมามาให้เห็นตามคำพูดที่รับปากไว้ อะไรก็ห้ามไม่ได้ ไม่ต้องวุ่นวายอะไร” จากนั้น มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ ก็ขอตัวไปเตรียมนำชามาต้อนรับหลวงพ่อ กลับมาปรากฏว่าหลวงพ่อโอภาสี หายไปแล้ว ออกไปดูหน้าบ้านก็ไม่มี เรียกคนใช้มาถาม คนใช้ยืนยันว่าไม่เห็นใครออกจากบ้านสักคนเดียว

จากนั้นช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้นเอง มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ ได้รับโทรเลขด่วนจากประเทศไทยมีข้อความว่า…หลวงพ่อโอภาสีมรณภาพแล้วเวลา ๐๗.๓๐ น. วันที่ ๓๑ ต.ค. ของดกำหนดการทั้งหมด ทำเอา มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ ถึงกับเข่าอ่อนน้ำตาไหลพรากและใจหายเป็นที่สุด พอตั้งสติได้ไม่รอช้านั่งเครื่องบินจากอินเดียมาประเทศไทย รีบไปอาศรมบางมดทันที

พบสังขารหลวงพ่อโอภาสีนอนเหยียดยาวบนกุฏิ มีมุ้งกางกันแมลง เนื้อหนังอ่อนนิ่มคล้ายคนหลับอย่างน่าอัศจรรย์ มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ จึงเล่าปาฏิหาริ์ของหลวงพ่อให้ลูกศิษย์ทุกคนฟัง ทำให้ทุกคนร้องไห้โฮอีกครั้งด้วยความเสียใจ

หลวงพ่อโอภาสี

คาถาของหลวงพ่อโอภาสีที่ท่านได้มอบให้ศิษย์หมั่นท่องบ่นภาวนาได้เป็นประจำวันว่า…

“ อิติสุคะโต อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง ”

สวด อยู่กับบ้านป้องกันอันตราย สวดก่อนออกจากบ้านคุ้มกันอันตรายตลอดการเดินทาง ไปต่างถิ่นสวดป้องกันอันตรายต่างๆ ทั้งจากเทวดา และภูตผีปีศาจทั้งหลาย เดินไปในทางเปลี่ยวหยุดภาวนาที่ต้นไม้ใหญ่ หรือ ศาลเจ้าเรียกให้ท่านช่วยติดตามปกป้องภัยได้อีกด้วย เรียกว่า คาถาสำเร็จแห่งหลวง

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร