วันที่ 4 ต.ค. 64 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยมีประเด็นสำคัญในการวางมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซล ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก จากปัจจัยจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวภายหลังโควิด19 / ค่าเงินบาท และ ปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่
ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล B7 ขยับราคาขึ้นมาที่ 31.29 บาทต่อลิตร ส่วน B10 ที่เป็นน้ำมันฐาน อยู่ที่ระดับ 28.29 บาทต่อลิตร แต่เนื่องจากผู้ใช้น้ำมันส่วนใหญ่ใช้น้ำมัน B7 ทำให้ได้รับผลกระทบ ที่ประชุม กบง. จึงเห็นชอบมาตรการดูแลราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในระยะแรก ระหว่างวันที่ 5 – 11 ต.ค. จะปรับลดการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนของ B7 จากเดิม 1 บาท/ลิตร ลงเหลือ 1 สตางค์ต่อลิตร มีผลให้ราคาน้ำมัน B7 ลดลงทันที 1 บาท เหลือ 30.29 บาทต่อลิตร
จากนั้นตั้งแต่วันที่ 11 – 31 ตุลาคม 64 กรมธุรกิจพลังงานจะออกประกาศ ปรับสูตรน้ำมันไบโอดีเซล จาก B7 และ B10 ให้เหลือ B6 และ B20 เท่านั้น โดยกำหนดให้ B6 (มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม 6%) เป็นน้ำมันพื้นฐานชั่วคราว ซึ่งการปรับสูตรดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
รวมถึงเตรียมเงินกองทุนน้ำมันราว 3,000 ล้านบาทเข้าอุดหนุนราคา ในอัตราลิตรละ 2 บาท ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมัน B6 อยู่ที่ 28.29 บาทต่อลิตร นอกจากนี้จะเข้าไปดูค่าการตลาดน้ำมันดีเซล จากเดิมที่คิด 1.80 บาทต่อลิตร ซึ่งหากค่าการตลาดสูงกว่าระดับดังกล่าวก็จะมีมาตรการปรับลดให้เหลือ 1.40 บาทต่อลิตร เพื่อตรึงราคาไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งหลังจากนั้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็จะมีมาตรการอื่น ๆ ตามมา
นอกจากนี้ยืนยันว่า เงินกองทุนน้ำมันยังสามารถดูแลเสถียรภาพราคา รองรับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกได้จนถึง 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากวันนี้ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 75.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ปัจจุบัน ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ อยู่ที่ 10,970 ล้านบาท ขณะที่จำนวนรถที่ใช้น้ำมันดีเซล ขณะนี้มีประมาณ 10 ล้านคัน ส่วนผู้ประกอบการรถบรรทุก ส่วนใหญ่กว่า 75% มีการใช้น้ำมันดีเซล B7 เป็นหลัก เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ไม่สามารถใช้น้ำมัน B10 ได้
กบง.ออกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลถึง สิ้น ต.ค. ดัน B6 เป็นน้ำมันพื้นฐาน