ประวัติหลวงพ่อแดง อิสสโร วัดภูเขาหลัก “พระธรรมิสรานุวัตร” (ศิษย์น้องหลวงพ่อคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช)
พระเครื่องของท่านล้วนแล้วประสบการณ์สูงด้านคงกระพันชาตรี เหรียญหลวงพ่อแดง รุ่นแรก สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีคำพูดกล่าวขานกันถึง ประสบการณ์พระเครื่องหลวงพ่อแดง วัดภูเขาหลัก แห่งอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกี่ยวกับคำพูดที่ว่า “เหรียญแลกชีวิต”
หลวงพ่อแดง อิสสโร ชื่อเดิม แดง ต่างศรี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ตรงกับวันขึ้น ๑ค่ำ เดือน๑ (อ้าย) ปีชวด ณ บ้านเหลียงเล้า ตำบลน้ำดำ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ นามบิดานายบุญช่วย นามมารดานางพุ่ม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน
เมื่อครั้งยามเยาว์วัย เด็กชายแดง ได้ย้ายตามครอบครัวของบิดามารดามาอยู่บ้านโคกมัน ตำบลท่ายาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเด็กเงียบขรึมแต่มีนิสัยช่างทำ แม้ทำงานหนักเด็กชายแดงก็ไม่เคยเอ่ยปากบ่นแต่ไม่ยอมคนง่ายๆตามนิสัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นท่านได้ออกจากบ้านเพื่อแสวงหาโชคความก้าวหน้าในชีวิตท่านได้เข้าทำงานที่ชะมาย เป็นผู้ดูแลสร้างทางรถไฟอยู่ประมาณปีกว่าๆเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้เข้าไปอยู่ที่ วัดหาดสูง
เมื่อครั้นยามบวชเรียนหลวงพ่อแดง บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันพุธที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๖ ตรงกับวันแรม๑๐ค่ำ เดือน๑๐ ปีเถาะ อายุ๑๖ปี ณ วัดหาดสูง ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพระอธิการกลาย (หลวงปู่กลาย) เป็นพระอุปัฌาย์
ชีวิตการศึกษา ท่านเล่าว่า เริ่มต้นตั้งแต่โสตนอโม อันเป็นอักษรโบราณทั้งภาษาขอม ไทย และบาลีเขียนกันที่กระดานชนวน ลบไปเขียนไป จนเข้าใจ ท่านได้เล่าเรียนคาถาพุทธาคม (ไสยศาสตร์ เลข ยันต์ตลอดถึงหมอโบราณ) จนมีความชำนิชำนาญ
ท่านมีความสามารถในด้านความจำดีเยี่ยม (นี้เป็นคำพูดของหลวงพ่อท่านคล้ายได้เล่าให้ผู้เขียนฟัง ครั้งไปกราบท่านที่วัดพระธาตุน้อย ในครั้งหนึ่ง) ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่นานถึง ๓ ปีกว่า จน (หลวงพ่อแดง) มีอายุพรรษาครบอุปสมบทได้
(วิชา“ นอโม” นี้เป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่งในทางไสยศาสตร์ โดยเฉพาะในภาคใต้ คือสำนักเขาอ้อ ที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัย ยังรุ่งเรืองแม้ทางภาคกลางเองก็มีวิชาจำพวก ” นอโม” นี้ด้วยเหมือนกันเพียงแต่ไม่พิสดารเท่าทางสายเขาอ้อ อันว่า ” นอโม” นี้คือปฐมอักขระมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง อักษรแต่ละตัวมีวิธีใช้ได้มากมายคนโบราณที่สำเร็จท่านใช้แค่ อะ หรือ โอ เท่านี้ก็มีอานุภาเหลือคณานับ โดยไม่ต้องว่าคาถายาวๆ)
สามเณรแดงได้อุปสมบทเมื่อ วันพุธที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ตรงกับวันขึ้น๑๑ค่ำ เดือน๗ ปีมะแม ณ วัดหาดสูง โดยมีพระอธิการกลายเป็นพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์สังข์สิริรตโน เจ้าอาวาสวัดไม้เรียง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ชีวิตเป็นสมณะเมื่ออุปสมบทแล้วพระแดงอิสสโรก็ได้จำพรรษาที่วัดหาดสูง ๑ พรรษา และใน พ.ศ.๒๔๕๒ ท่านจึงออกจากวัดหาดสูง
และได้ไปจำพรรษาที่ วัดท่ายาง พ.ศ.๒๔๕๓ เดินทางไปอยู่ที่ วัดอรัญคามวารี (วัดกะชุม) ต.พ่วงพรมคร อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านอยู่ที่นี้จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ตำแหน่งฐานานุกรมพระใบฎีกาแดง อิสสโรเป็นเวลานานถึง ๒๙ พรรษา
หลวงพ่อแดง ท่านได้ปฏิบัติภารกิจทั้งด้านการปกครองงานการศึกษาและงานด้านสาธารณูปการได้อบรมกุลบุตรกุลธิดาให้ตั้งอยู่ในความดีงามให้มีการเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรมได้อุปการะและส่งไปเล่าเรียนในสำนักต่างๆด้านการก่อสร้างท่านได้ก่อสร้างกุฏิศาลาการเปรียญอุโบสถ ที่วัดกระชุมจนเป็นวัดโดยสมบูรณ์ทุกประการ พ.ศ.๒๔๘๐ หลวงพ่อแดง ท่านจึงได้เดินทางกลับมารักษาการเจ้าอาวาสวัดภูเขาหลัก แทนพระครูนนทสิกกิจ ที่ได้มรณภาพลง
ตั้งแต่”หลวงพ่อแดง”ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดภูเขาหลัก ได้จัดสร้างศาลาโรงธรรม กุฏิ หอสวดมนต์ และท้ายสุดในปลายชีวิตของท่านได้ก่อสร้างอุโบสถ และท่านยังเป็นประธานในการสร้างวัดต่างๆ ใว้หลายแห่งเช่น วัดควนสระบัว สร้างโรงเรียนวัดควนสระบัวให้ 1หลัง วัดธรรมิการาม ที่บ้านวังหิน เป็นต้น
สมณศักดิ์ หลวงพ่อแดง “พระครูธรรมิสรานุวัตร”
พ.ศ.๒๔๘๕ ได้รับฐานานุกรม ที่ พระปลัดแดง ของพระครูถาวรบุญรัตน์
พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท ในราชทินนามว่า “พระครูธรรมิสรานุวัตร”
พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นเอก ในราชทินนามเดิมว่า “พระครูธรรมิสรานุวัตร”
เรียบเรียง