วันนี้ (24 ส.ค.2546) พืชกระท่อมได้รับการปลดออกจากสถานะยาเสพติด มาเป็นพืชที่ประชาชนสามารถปลูกเพื่อการบริโภคและขายได้ เดิมทีประชาชนในจังหวัดภาคใต้มักจะแอบปลูกไว้หลังบ้านประมาณ 1-2 ต้น เพื่อใช้แบบวิถีชาวบ้าน ที่เน้นการบรรเทาอาการปวดเมื่อยและลดความอ่อนล้า
และอาจจะเป็นอีกทางออกของกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ที่ใบกระท่อมจะช่วยบรรเทาอาการปวด โดยมีวิธีใช้ง่ายและปลูกเองได้
นพ.จักราวุธ เผือกคง ผอ.การสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า สรรพคุณของพืชกระท่อมมีหลายอย่าง ทั้งแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการท้องเสีย และควบคุมเบาหวาน ซึ่งแพทย์แผนไทยจะใช้พืชกระท่อม 2 แบบในการรักษาโรค
เคี้ยวใบสด-ต้มน้ำดื่มเช้า-เย็น
แบบแรก คือ ใช้กระท่อมแบบเดี่ยว แก้กลุ่มอาการปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น ข้อ อาการออฟฟิศซินโดรม โดยใช้เป็นใบสด จำนวน 1-2 ใบ รูดก้านใบออก เคี้ยวใบสด กลืนเฉพาะน้ำ คลายกากใบทิ้ง แล้วดื่มน้ำเปล่าตาม ทั้งนี้ ก้านใบและใบของกระท่อม ไม่สามารถย่อยได้ หากกลืนเข้าไปจะทำให้ติดค้างอยู่ภายในลำไส้
จำนวนใบที่ใช้ แต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าเคี้ยว 1 ใบแล้วดีขึ้น ก็พอ ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็เคี้ยวต่อได้อีกใบ วันหนึ่งไม่ควรเกิน 2 ใบ
แต่สำหรับคนไม่อยากเคี้ยว สามารถนำมาต้มดื่มได้ โดยต้มน้ำให้เดือด จากนั้นใส่ใบกระท่อม แล้วต้มต่ออีกประมาณครึ่งชั่วโมง นำมาดื่ม เช้าครึ่งแก้ว-เย็นครึ่งแก้ว ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้นำน้ำกระท่อมไปผสมกับยาแผนปัจจุบันในสูตร 4 คูณ 100 เพราะเป็นการใช้ผิดประเภท
เตรียมฟื้นฟูตำรับยา
แบบที่สอง คือ ใช้กระท่อมแบบตำรับยา โดยใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ แก้อาการปวดตามร่างกาย กระดูก เอ็น ข้อ คล้ายกล้ามเนื้อ คอบ่าไหล่ รักษาโรคทางเดินอาหาร โดยเฉพาะท้องเสีย มีมูลเลือด ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อยู่ระหว่างฟื้นฟูตำรับยา
นพ.จักราวุธ กล่าวว่า ใบกระท่อมไม่ใช่ยาชูกำลัง เพราะไม่ได้ทำให้มีกำลังมากขึ้น แต่ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย สงบ ความอ่อนล้าต่าง ๆ ลดลง เมื่อร่างกายไม่อ่อนเพลีย ไม่ปวดเมื่อย ก็จะอยากทำงานมากขึ้น ไม่รู้สึกเหนื่อย กระปรี้กระเปร่า
กระท่อมจะไม่เหมือนยาบ้าที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท กระท่อมไม่ได้ออกฤทธิ์แบบนั้น จึงไม่ควรเอาไปใช้แทนยาบ้า
ไม่ควรใช้ใบกระท่อมในปริมาณมาก
ขณะที่อาการข้างเคียงหลังการใช้ อาจจะมีอาการมึน งง เมา และเวียนหัว ซึ่งหากใช้ในปริมาณมาก จะเกิดอาการ “เมากระท่อม” คือ รู้สึกกล้ามเนื้อสั่น ตัวสั่น และหนาวเย็น และหากใช้มากเกินไป จะมีอาการเดินเซ คลื่นไส้ เวียนหัว ความดันลดลง หน้ามืด ซึ่งถ้ามีอาการแบบนี้ ให้หยุดใช้ทันที แล้วดื่มน้ำเปล่าตามมาก ๆ และดื่มน้ำหวานเสริมเข้าไป
ทั้งนี้ ใบกระท่อมหากใช้ในระยะเวลานานและมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ติดได้ ถ้าไม่ได้ใช้จะมีอาการหงุดหงิด ปวดเมื่อย นอนไม่หลับ กระวนกระวาย และมีน้ำมูกน้ำตาไหล
ร่างกายแต่ละคนจะมีอาการทนได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับร่างกายและความเคยชิน หากใช้ได้พอดี ใช้เฉพาะเวลามีอาการ จะดีและไม่ติด
คุมเบาหวานได้ดี แต่ไม่ได้รักษาเบาหวาน
นพ.จักราวุธ ระบุว่าในแผนปัจจุบันพบว่า กระท่อมมีแนวโน้มในการคุมเบาหวานได้ดีขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยเบาหวานในชนิดที่ 2 ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ แต่กระท่อมจะเข้าไปช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลออกมาใช้ได้ดีขึ้น แต่เรื่องนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีก