‘ศิริราชพยาบาล’ เปิดผลคืบหน้างานวิจัย ‘วัคซีนโควิด’ แบบเข็มสลับ

3015
views

ศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกัน ในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 สลับเข็ม ผลความคืบหน้างานวิจัยวัคซีนโควิด พบการฉีดวัคซีนแบบเข็มสลับ ซิโนแวคก่อน แล้วตามด้วยแอสตร้าเซเนก้าใน 3-4 สัปดาห์ ภูมิขึ้นสูงเฉลี่ย 1,355 หน่วย ใกล้เคียงกับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มที่มีภูมิขึ้นเฉลี่ย 1,900 หน่วย “ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก” ไม่แนะนำให้แอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มหนึ่งและตามด้วยซิโนแวคเป็นเข็มสอง เพราะสร้างภูมิคุ้มกันได้ต่ำกว่า ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในผู้ที่ฉีดซิโนแวคแล้วสองเข็ม พบว่าแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นที่สูงกว่าซิโนฟาร์ม

19 สิงหาคม 2564 ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) กล่าวถึงความคืบหน้างานวิจัยวัคซีนโควิด ว่า งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดในช่วงแรกเป็นการศึกษาในอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม ใช้การทดสอบด้วยวิธีเดียวกัน ในผู้ที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน พบว่า หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงสู้การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มไม่ได้ และเมื่อทดสอบการต่อต้านไวรัสเดลต้าที่มีชีวิต พบว่า ซิโคแวคสองเข็มจะปกป้องได้ไม่ดีเท่าแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่พบการติดเชื้อเดลต้าจำนวนมากในผู้ที่เคยฉีดซิโนแวค 2 เข็มมาก่อน อย่างไรก็ดียังพบว่าวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มยังป้องกันการติดเชื้ออย่างรุนแรง และการเสียชีวิตได้ค่อนข้างสูงมากกว่า 70%

สำหรับการเกิดเชื้อกลายพันธุ์ทำให้การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแบบเดิม ป้องกันเชื้อเดลต้าไม่ได้ดี แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะยังสามารถลดความรุนแรงได้ จึงได้มีการศึกษาการฉีดสลับเข็มไขว้ ระหว่างซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า แอสตร้าเซนเนก้า+ซิโนแวค และซิโนแวค+ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์

ผลการศึกษา โดยทำการวัดภูมิต่อไวรัสโดยวิธีที่ใช้ทั่วไป anti-RBD IgG (BAU/mL) หลังเข็มสอง 2 สัปดาห์ พบว่าการฉีดสลับเข็ม ซิโนแวคก่อนตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า พบภูมิจาก 24 หน่วย ขึ้นสูงเป็น 1,355 หน่วย แต่ถ้าฉีดแอสตร้าเซนเนก้าก่อน แล้วตามด้วยซิโนแวค พบว่าภูมิขึ้นน้อยกว่ามาก จาก 147 หน่วยขึ้นเป็น 222 หน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดชนิดเดียวกัน ซิโนแวค 2 เข็มภูมิขึ้น 229 หน่วย ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มภูมิขึ้น 424 หน่วยไฟเซอร์ 2 เข็มภูมิขึ้น 1,900 หน่วยส่วนคนที่เป็นโควิด19 ในช่วงระบาดที่สมุทรสาครเมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ภูมิขึ้น 181หน่วย

และจากวัดภูมิแบบจำเพาะต่อสายพันธุ์เดลต้าที่มีชีวิต พบว่า ถ้าฉีดเข็มสลับซิโนแวคแล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า สามารถต่อต้านเดลต้าได้ดีกว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าแล้วตามด้วยชิโนแวค หรือซิโนแวค 2 เข็มมาก และดีกว่าการฉีดด้วยแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็มเล็กน้อย

ส่วนผลการศึกษาเข็มสลับไฟเซอร์กับวัคซีนตัวอื่น ต้องรออีก 1 เดือนจึงจะทราบผล เนื่องจากเพิ่งได้รับวัคซีนมาศึกษา

นอกจากนี้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับบุคลากรด่านหน้าที่เคยฉีดวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม เพราะถ้าติดเชื้อแม้จะไม่รุนแรงก็ต้องหยุดงาน ไม่มีคนดูแลผู้ป่วย ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช จึงได้เริ่มทำการศึกษาเพิ่มเติม

โดยแบ่งการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ แอสตร้าเซเนก้า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์เต็มโดสและไฟเซอร์ครึ่งโดส ซึ่งมีศึกษาการใช้ครึ่งโดสของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอฉีดกระตุ้นมาบ้างแล้วในต่างประเทศ

เบื้องต้นผลการศึกษา โดยทำการวัดภูมิด้วยวิธีทั่วไป พบว่า ผู้ที่ได้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็ม 3 หลังจากฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว 2 เดือน พบว่าภูมิขึ้นจาก 52 หน่วยเป็น 1,500 หน่วย ไม่ต่างจากการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มมากนัก ส่วนผู้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นเข็ม 3 ภูมิขึ้นจาก 44 หน่วย เป็น 218 หน่วย ซึ่งภูมิขึ้นในระดับที่น้อยกว่าการใช้แอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็ม 3 และยืนยันด้วยการตรวจภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะต่อเดลต้าที่มีชีวิต ก็พบว่าแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็ม 3 ให้ผลต่อต้านไวรัสได้ดีกว่ามาก

จากผลการศึกษาเหล่านี้ จึงขอแนะนำว่าในยามนี้ที่มีสายพันธุ์เดลต้าระบาดเช่นนี้ ควรฉีดเข็มสลับ ซิโนแวคแล้วตามด้วยแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพดีและใช้วัคซีนที่เรามีได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด สูตรสลับแบบนี้จะดีกว่าการฉีดแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม เพราะทำให้จบการฉีดเข็มที่ 2 ได้เร็วกว่า คือภายใน 3-4 สัปดาห์แทนที่จะเป็น 10-12 สัปดาห์ และยังมีให้ระดับภูมิคุ้มกันที่วัดได้สูงกว่าด้วย ซึ่งทางกระทรวงเริ่มฉีดแบบนี้ในขณะนี้แล้ว และไม่แนะนำการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วตามด้วยชิโนแวค หรือชิโนแวค 2 เข็ม ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ต้องรอดูว่ามีวัคซีนอะไรในประเทศ ตอนนี้แอสตร้าเซนเนก้าดีที่สุดเมื่อเทียบกับซิโนฟาร์ม ส่วนไฟเซอร์ต้องรอดูผลการทดลองที่จะออกมาในอีกประมาณ 2 อาทิตย์

ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยคลินิกมีอีกหลายโครงการเกี่ยวกับโควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น การฉีดวัคซีนให้กับคนที่เคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ ในเด็ก และการฉีดวัคซีนเข้าใต้หนัง (Intradermal) สำหรับประชาชนที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการวิจัยในอนาคต โปรดติดตามข่าวสารประชาสัมพันธ์เชิญชวนสมัครเข้าร่วมโครงการได้ จากทางศูนย์วิจัยคลินิก SICRES คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.02-414-1914 www.sicres.org

บทความต้นฉบับ

อ่านโดยพลัน!‘ศิริราช’เปิดผลคืบหน้างานวิจัย‘วัคซีนโควิด’

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร